วันอาทิตย์ที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2557

แนวทางการจัดการเรียนการสอนเกี่ยวกับอาชีพ ในโรงเรียนระดับประถมศึกษา


ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.จรีลักษณ์ รัตนาพันธ์
         การเรียนรู้เกี่ยวกับการอาชีพเป็นสิ่งสำคัญมากในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยเฉพาะสำหรับผู้เรียนที่ไม่มีโอกาสศึกษาต่อ หรือต้องการจะไปประกอบอาชีพหลังจากจบการศึกษาในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานแล้ว  เห็นได้จากมีการบรรจุเนื้อหาวิชานี้ไว้ในหลักสูตรการศึกษาภาคบังคับของไทยมาตั้งแต่เริ่มมีการจัดการศึกษา  สำหรับแนวทางในการจัดประสบการณ์การเรียนรู้การอาชีพ กระทรวงศึกษาธิการได้เสนอแนะไว้ดังนี้
         ในปี 2533 กรมวิชาการ กระทรวงศึกษาธิการ (2533 : 71 – 72) ได้เสนอแนะเกี่ยวกับการจัดประสบกาณ์เรียนรู้กลุ่มการงานและพื้นฐานอาชีพว่า  นอกจากการฝึกปฏิบัติงานเน้นการเกิดทักษะเฉพาะของตนเองแล้วยังต้องให้รู้ถึงกระบวน การทำงานร่วมกับผู้อื่นด้วย ทักษะสำคัญที่ทำให้การทำงานร่วมกับผู้อื่นให้ประสบผลสำเร็จมี 3 ประการ คือ
                             1. มีทักษะจำเป็นในการทำงานกลุ่ม คือ ทักษะในการพูด ฟัง อภิปรายประสาน ความคิดและสรุปผล การเสนอผลงาน การทำหน้าที่หัวหน้าเลขานุการ และสมาชิกของกลุ่ม
                             2. การมีทักษะในกระบวนการทำงาน ได้แก่ การวิเคราะห์งาน การวางแผนในการทำงาน และการปฏิบัติงานตามแผน
                             3. การมีคุณธรรมในการทำงานร่วมกัน ได้แก่ ความรับผิดชอบความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ความไม่เอาเปรียบผู้อื่น เป็นต้น
ต่อมาในปี พ.ศ.2544 ประเทศไทยมีการเปลี่ยนแปลงหลักสูตรการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยจัดการเรียนการสอนเป็น 4 ช่วงชั้น และเปลี่ยนจากการเรียนรู้วิชาบังคับ วิชาบังคับเลือก วิชาเลือกเสรี  มาเป็น 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้ ซึ่งมีสาระการงานอาชีพและเทคโนโลยี รวมอยู่ด้วย กระทรวงศึกษาธิการ (2546 หน้า 8 - 10) ได้เสนอแนะเกี่ยวกับการจัดประสบการณ์เรียนรู้สาระการอาชีพ  ว่าในการเตรียมผู้เรียนเพื่อให้มีความรู้ความสามารถด้านงานอาชีพนั้นจะต้องทำเป็นขั้นตอน เพราะผู้เรียนมีความแตกต่างกันในเรื่อง วัย วุฒิภาวะ พื้นความรู้ความสามารถ และประสบการณ์ในการจัดประสบการณ์การเรียนรู้ควรยึดแนวทาง ดังนี้
          1. จัดการเรียนการสอนให้ยืดหยุ่นทันต่อการเปลี่ยนแปลง โดยให้สอดคล้องกับปัญหาและสภาพแวดล้อม
          2. ให้นักเรียนได้เรียนตามความถนัดของตนเอง
          3. เน้นการเรียนการสอนทั้งภาคปฏิบัติและภาคทฤษฎี เพื่อให้นักเรียนมีประสบการณ์เกี่ยวกับการทำงาน สามารถนำหลักการและวิธีการมาใช้กับการทำงาน
         จึงพอสรุปได้ว่า  แนวทางในการจัดการประสบการณ์เรียนรู้สำหรับผู้เรียนสาระการอาชีพในระดับประถมศึกษานั้น ผู้สอนควรยึดแนวทางดังนี้
1.       จัดให้ผู้เรียนได้เรียนตามความถนัดโดยจัดการเรียนการสอนทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ
2.       ในการจัดประสบการณ์เรียนรู้ภาคปฏิบัติเน้นให้ผู้เรียนเกิดทักษะ ประสบการณ์ โดยให้ผู้เรียนมีโอกาสลงมือปฏิบัติด้วยตนเองเพื่อให้สามารถนำหลักการและวิธีการมาใช้กับการทำงานได้
3.       ส่งเสริมให้ผู้เรียนเป็นผู้มีคุณธรรม จริยธรรมที่จำเป็นต่อการประกอบอาชีพ โดยให้ผู้เรียนได้ฝึกทำงานเป็นกลุ่มร่วมกับผู้อื่น
4.       การกำหนดประสบการณ์เรียนรู้ควรให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ผ่านการทำกิจกรรมที่สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมและมีความเหมาะสมกับผู้เรียน


................................................................................................................................................................

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น