วันศุกร์ที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

บทความวิจัย

การเขียนบทความวิจัย
Research Article
ผู้ช่วยศาสตราจารย์  ดร.จรีลักษณ์ รัตนาพันธ์
31กรกฎาคม 2558

บทความวิจัย เป็นการนำเสนอข้อมูลการวิจัยเป็นลายลักษณ์อักษร โดยนำข้อมูลที่ปรากฎ
ในรายงานการวิจัยมาประมวลและสรุปย่อเรียบเรียงเป็นบทความเพื่อให้ผู้อ่านทราบเกี่ยวกับความสำคัญและความเป็นมา วัตถุประสงค์ของการวิจัย วิธีการดำเนินการวิจัย สรุปผลการวิจัย และข้อเสนอแนะ ของงานวิจัยที่ผู้เขียนต้องการนำเสนอ
          การเขียนบทความวิจัย ควรมีองค์ประกอบดังนี้
1 ชื่อเรื่อง (Title) เป็นชื่อที่มาจากชื่องานวิจัย ควรเขียนให้กระชับ การเขียนชื่อบทความวิจัยเป็นการเขียนข้อค้นพบโดยใช้งานวิจัย/วิทยานิพนธ์เป็นฐาน การเขียนชื่อบทความจึงไม่จำเป็นต้องชื่อเหมือนงานวิจัย แต่ต้องแสดงสิ่งสำคัญที่ต้องการศึกษาโดยย่อ การเขียนชื่อบทความจึงควรคำนึงถึงหลักในการเขียน ดังนี้
1.1  ชื่อเรื่องควรเป็นนามวลี ที่บอกให้ทราบตัวแปรหลักที่ศึกษา 
1.2  ชื่อเรื่องไม่ควรยาวเกินไป ควรมุ่งอธิบายให้ผู้อ่านทราบประเด็นของงานวิจัย
อย่างย่อที่สุด
1.3 ควรแสดงคำสำคัญของงานวิจัยที่ทำไว้ในชื่อเรื่อง
2 บทคัดย่อ (Abstract) เป็นการเขียนสรุปการทำวิจัยทั้งหมด โดยจะต้องเขียนสรุปและได้ใจความ ประกอบด้วย ที่มาของงานวิจัย วัตถุประสงค์ของการวิจัย รูปแบบการวิจัย ตัวแปร วิธีดำเนินการวิจัยอย่างย่อ ผลการวิจัย บทคัดย่อควรเป็นส่วนที่เขียนขึ้นหลังจากเขียนบทความเสร็จเรียบร้อย การเขียนบทคัดย่อ จึงควรคำนึงถึงสิ่งต่อไปนี้
2.1 องค์ประกอบในบทคัดย่อ ควรประกอบด้วยส่วนนำ จุดประสงค์ วัสดุอุปกรณ์
และวิธีการ ผลการศึกษา และสรุป โดยเรียบเรียงการเขียนแบบร้อยแก้ว ติดต่อกันไป อย่างย่อ กะทัดรัดชัดเจน เข้าใจง่าย ได้ใช้ความ
2.2 เขียนบอกเฉพาะ แรงจูงใจ ปัญหาหลัก วัตถุประสงค์ ระเบียบวิธีวิจัย
วิธีดำเนินการ ข้อค้นพบ ปัญหาวิจัย วัตถุประสงค์และ/หรือสมมุติฐาน โดยไม่ต้องบอกค่าสถิติที่ได้
2.3 ไม่ควรเขียนรายละเอียดข้อมูลทั่วไป/กลุ่มตัวอย่าง และไม่ต้องอภิปรายผลและ
ข้อเสนอแนะ และไม่ควรเขียนผลการวิจัยเป็นข้อ ๆ
2.4 ควรมีความยาวพอประมาณ ส่วนใหญ่วารสารทางวิชาการจะมีการกำหนด
จำนวนคำในบทคัดย่อไว้ ซึ่งจะแตกต่างกันไปโดยทั่วไปจะกำหนดไว้ประมาณ 250 คำ  และระบุคำสำคัญ 1-4 คำ หรือตามแต่วารสารนั้น ๆ จะกำหนด
2.5 อาจเขียนเป็น 1 ย่อหน้า หรือ 2 ย่อหน้า โดยอาจแสดงออกเป็น ส่วนที่ 1
ประกอบด้วยแรงจูงใจ ปัญหา วัตถุประสงค์ วิธีวิจัย และส่วนที่ 2 ประกอบด้วย ข้อค้นพบเพื่อตอบวัตถุประสงค์หรือสมมุติฐาน (ถ้ามี)
3 บทนำ (Introduction) เป็นการเสนอ ที่มาของการวิจัย ได้แก่ ความสำคัญของปัญหา เพื่อให้ผู้อ่านเข้าใจปัญหาการวิจัย โดยอาจยกสถานการณ์หรือข้อมูลประกอบพร้อมระบุเหตุผลของความจำเป็นที่ต้องแก้ไขปัญหาซึ่งเป็นที่มาของการวิจัย ความเกี่ยวข้องกันระหว่างตัวแปรที่ศึกษากับแนวคิดทฤษฎี วัตถุประสงค์การวิจัย การกำหนดขอบเขตของการวิจัย และประโยชน์ที่ได้รับจากการวิจัย ผู้เขียนอาจรวมวัตถุประสงค์ หรือแยกการเขียนวัตถุประสงค์การวิจัยไว้เป็นอีกส่วน ทั้งนี้ขึ้นกับรูปแบบที่แต่ละสถาบันจะกำหนด การเขียนบทนำที่ดี ดังนี้ (สุนันทา จริยาเลิศศักดิ์. [ออนไลน์] : 2555)
3.1 ควรเสนอลักษณะและความเป็นมารวมทั้งขอบเขตของปัญหาที่นำมาศึกษาให้
ชัดเจน
3.2 มีการทบทวนเอกสารเรื่องที่เกี่ยวข้องกับงานวิจัย ความก้าวหน้า และ
ข้อคำถามหรือปัญหาใดที่ยังไม่มีการศึกษาหาคำตอบ ซึ่งจะสัมพันธ์กับวัตถุประสงค์ของงานวิจัยในบทความที่นำเสนอ
3.3 ระบุวิธีการที่จะศึกษาวิจัย
3.4 มีความยาวประมาณ 2-3 ย่อหน้า ข้อความควรมีความกระชับ ชัดเจน
3.5 การเขียนต้องมีการแสดงหลักฐานอ้างอิงแทรกไว้ในเนื้อหา โดยอาจเป็น
แนวคิดจากนักวิชาการ และผลงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง
4 วิธีดำเนินการ (Methodology) เป็นการเขียนเพื่อให้ทราบว่าข้อมูลที่นำเสนอในงานวิจัยเรื่องนั้นๆ ถูกรวบรวมหรือสร้างขึ้นอย่างไร โดยนำเสนอข้อมูลที่เกี่ยวกับ ประชากรกลุ่มตัวอย่าง
ตัวแปรที่ศึกษา ระยะเวลา กรอบแนวคิด เครื่องมือ รวมทั้งกระบวนการวิเคราะห์ข้อมูล เพื่อให้ผู้อ่านทราบและมั่นใจว่าเป็นวิธีการที่ทำได้ถูกต้อง และเหมาะสมกับบัญหาวิจัยนั้น ๆ
5 สรุปผลการวิจัย (Results and Conclusion) เป็นการเขียนเพื่อแสดงผลที่ได้จาก
การทำวิจัย และแปลความหมายจากผลการทดลองหรือข้อมูลที่ได้มาจากการวิเคราะห์ข้อมูล การนำเสนอผลการวิจัยอาจนำเสนอในรูปตาราง แผนสถิติ แผนภาพ หรือคำบรรยายที่ชัดเจน ควรเสนอตามลำดับวัตถุประสงค์การวิจัย
6 การอภิปรายผล (Discussion) เป็นการให้คำวิจารณ์ แนะนำ และอภิปรายผลของ
การวิจัยที่เกิดขึ้นว่าเป็นเพราะเหตุใด เป็นการอธิบายสาเหตุการเกิดผล การเปรียบเทียบผลกับข้อมูลหรือข้อสรุปที่ได้มาจากการทบทวนวรรณกรรม หรือข้อมูลของงานวิจัยของผู้อื่นที่มีการรายงานไว้แล้วมาสนับสนุน รวมทั้งตอบสมมุติฐานในกรณีที่กำหนดไว้ว่าเป็นไปหรือไม่เป็นไปเพราะเหตุผลใด ผู้เขียนสามารถนำข้อสังเกตหรือข้อค้นพบที่เกิดขึ้นในระหว่างการดำเนินงานวิจัยมาใช้เป็นเหตุผลประกอบการอภิปรายผลได้
7 ข้อเสนอแนะ (Recommendation) เป็นการนำเสนอเพื่อให้ผู้อ่านทราบว่าผลจากการวิจัยนั้นสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับเหตุการณ์จริงได้อย่างสมเหตุสมผล และมีแนวโน้มว่าจะเป็นไปได้ การเขียนข้อเสนอแนะ จะเขียนเป็น 2 แนวทาง คือ
7.1 ข้อเสนอแนะการนำผลการวิจัยไปใช้ เป็นการนำไปปรับปรุงกระบวนการ
ทำซ้ำ โดยขจัดปัญหาและอุปสรรคและเพิ่มแนวทางเพื่อความสมบูรณ์
7.2 ข้อเสนอแนะที่สืบเนื่องจากผลวิจัย เพื่อเป็นการพัฒนาต่อเนื่องให้ได้องค์
ความรู้เพิ่มเติมจากการพิสูจน์ตามข้อเสนอที่มีผลกระทบต่องานวิจัย
8. เอกสารอ้างอิง (References) ในการเขียนบทความวิจัยซึ่งเป็นเอกสารทางวิชาการ จำเป็นต้องแสดงแหล่งที่มาของข้อมูลที่นำเสนอด้วยการอ้างอิงทุกแห่งที่ปรากฏในบทความ ผู้เขียนต้องแสดงในรายการเอกสารอ้างอิงท้ายบทความ ควรตรวจสอบรูปแบบการเขียนรายการอ้างอิงให้ถูกต้อง ตามประเภทการอ้างอิง รูปแบบการอ้างอิง ตามที่วารสารนั้นกำหนดรูปแบบไว้ และถูกต้องตามระบบการอ้างอิงของวารสารนั้น ๆ โดยทั่วไปวารสารแต่ละชื่อเรื่องจะระบุรูปแบบและระบบการอ้างอิง การเขียนอ้างอิงเพื่อการแสดงรายการหลักฐานต่าง ๆ ที่นำมาใช้ประกอบการเขียนบทความ ส่วนใหญ่ที่ใช้มี 2 ระบบ ได้แก่ ระบบนาม-ปี ซึ่งนิยมใช้ทางสังคมศาสตร์ และระบบตัวเลขลำดับ นิยมใช้ทางวิทยาศาสตร์ การใช้รูปแบบการอ้างอิงแบบใด ให้ยึดถือตามเกณฑ์ที่แต่ละชื่อวารสารกำหนด


………………………………………………………………

วันเสาร์ที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2558

สื่อและแหล่งเรียนรู้ที่ใช้ในการสอนอาชีพ



                  สื่อและแหล่งเรียนรู้ที่ใช้ในการจัดการเรียนรู้สาระการอาชีพ
                                                                           ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.จรีลักษณ์ รัตนาพันธ์


         การรกำหนดและจัดเตรียมสื่อและแหล่งเรียนรู้ให้เหมาะสมกับการนำไปใช้ในการจัดประสบการณ์การเรียนรู้  ครูควรจัดเตรียมไว้ล่วงหน้าก่อนที่จะมีการจัดประสบการณ์การเรียนรู้ ในที่นี้จะกล่าวถึงสื่อที่ใช้ในการจัดประสบการณ์เรียนรู้สาระการอาชีพ และแหล่งเรียนรู้ที่ใช้ในการจัดประสบการณ์เรียนรู้สาระการอาชีพ
        1 สื่อที่ใช้ในการจัดประสบการณ์เรียนรู้สาระการอาชีพ  ประกอบด้วย 
             1.1 สื่อประเภทวัสดุ  อุปกรณ์ เครื่องมือ ต่างๆ ได้แก่
                     เครื่องมือและวัสดุทางการเกษตร จอบ เสียม คราด ซ้อมพรวนดิน เมล็ดพันธุ์ ปุ๋ยชนิดต่าง ๆ เป็นต้น
                     อุปกรณ์และวัสดุในการประกอบอาหาร ได้แก่ มีด กะทะแบบต่างๆ เครื่องบดอาหาร เตาอบ แป้งชนิดต่างๆ ผัก ผลไม้ เครื่องเทศ เป็นต้น
             1.2 สื่อประเภทวิธีการ
        2 แหล่งเรียนรู้ที่ใช้ในการจัดประสบการณ์เรียนรู้สาระการอาชีพ แหล่งเรียนสำคัญที่ครูควรศึกษารวบรวมเพื่อใช้ในการจัดประสบการณ์เรียนรู้สาระการอาชีพ ได้แก่
           1) สถานประกอบการณ์ที่ทำธุรกิจเชิงพาณิชย์ ควรยกตัวอย่างสถานประกอบการที่ผู้เรียนคุ้นเคย สามารถพบเห็นได้ทั่วไป  ตัวอย่างเช่น  ร้านสะดวกซื้อ  หรือร้านค้าที่ตั้งอยู่ใกล้เคียงกับบริเวณโรงเรียน  เป็นต้น
           2) สถานประกอบการณ์ประเภทอุตสาหกรรม ได้แก่ โรงงานอุตสาหกรรม สถานประกอบการณ์ขนาดต่าง ๆ ที่อยู่ในชุมชน 
           3) สถานประกอบการณ์ประเภทเกษตรกรรม ครูควรไปสำรวจและเยี่ยมเยียนสถานประกอบการณ์ที่อยู่ใกล้โรงเรียน  ซึ่งอาจเป็นแปลงนา  หรือสวนของผู้ปกครองนักเรียน  บ่อเลี้ยงปลา หรือคอกปศุสัตว์ในชุมชน  สำหรับโรงเรียนที่อยู่ในเมืองที่หาแหล่งเรียนรู้ประเภทนี้ได้ยาก หากต้องการจัดการเรียนรู้ครูอาจใช้สื่อที่เป็นสื่ออิเลคทรอนิกส์ ได้แก่ วิดิทัศน์  หรือ ใช้การฉายภาพจาก u-tube ซึ่งสามารถสืบค้นได้จากเวบไซต์ที่เกี่ยวข้องกับการเกษตร
            4) สถานประกอบการประเภทบริการ สถานบริการที่นักเรียนระดับประถมศึกษารู้จักดีได้แก่  ร้านขายอาหาร ร้านเสริมสวย  ร้านถ่ายรูป  ร้านตัดเสื้อผ้า  ร้านทำมุ้งลวดเหล็กดัด  อู่ซ่อมรถยนต์  เป็นต้น
            5) หน่วยงานราชการในท้องถิ่น  เป็นแหล่งเรียนรู้อีกประเภทหนึ่งที่ควรให้นักเรียนได้รู้จักและเข้าเยี่ยมชม  เพื่อให้นักเรียนได้รับความรู้และมีประสบการณ์จริงจากการได้สังเกตสถานที่ สภาพแวดล้อมวิธีการทำงานของข้าราชการและผู้เกี่ยวข้องที่ปฏิบัติงานในสถานที่ราชการ อีกทั้งทำให้นักเรียนมีความรู้เกี่ยวกับการใช้บริการในสถานที่ราชการในท้องถิ่นเพื่อประยุกต์ใช้ข้อมูลเหล่านั้นในการดำเนินชีวิตของนักเรียนได้   แหล่งเรียนรู้เหล่านี้ได้แก่  สถานนีตำรวจ สถานีอนามัย โรงพยาบาล ที่ทำการไปรษณีย์ ห้องสมุดประชาชน  สถานีดับเพลิง  เป็นต้น
           อย่างไรก็ตามในการกำหนดและเลือกใช้สื่อและแหล่งเรียนรู้สำหรับใช้ในการจัดประสบการณ์เรียนรู้แก่นักเรียน ครูจะต้องตระหนักถึงบริบทต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับนักเรียน ทั้งบริบททางด้านศักยภาพในการเรียนรู้  บริบททางด้านครอบครัว และบริบทของโรงเรียน โดยเลือกใช้สื่อและแหล่งเรียนรู้ให้เหมาะสมกับผู้เรียนเป็นประการสำคัญ 

วันจันทร์ที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

หน้าที่ผู้ดูแลเด็กปฐมวัยที่มีความต้องการพิเศษ

หน้าที่ของครูผู้ดูแลเด็กปฐมวัยที่มีความต้องการพิเศษ

ครูผู้ดูแลเด็กปฐมวัยที่มีความต้องการพิเศษ มีหน้าที่เกี่ยวกับการอบรม เลี้ยงดู จัดประสบการณ์เรียนรู้ การส่งเสริมการเรียนรู้ พัฒนาผู้เรียน ปฏิบัติงานทางวิชาการของศูนย์พัฒนาเด็กปฐมวัย ซึ่งมีอายุตั้งแต่  และปฏิบัติหน้าที่อื่นตามที่ได้รับมอบหมาย ดังนี้

1. ปฏิบัติงานเกี่ยวกับการอบรม เลี้ยงดู ส่งเสริมพัฒนาการและการเรียนรู้ของเด็กด้วยวิธีการ

ที่หลากหลาย โดยคำนึงถึงเด็กเป็นสำคัญ

2. จัดอบรมสั่งสอนและจัดกิจกรรมเพื่อพัฒนาผู้เด็กมีพัฒนาการที่ดีทั้งทางร่างกาย อารมณ์

สังคม สติปํญญา ตลอดจนให้มีคุณลักษณะที่พึงประสงค์เหมาะสมกับวัยและศักยภาพของเด็ก

3. ปฏิบัติงานเกี่ยวกับการจัดระบบการดูแลช่วยเหลือเด็กปฐมวัยที่มีความต้องการพิเศษ

4. ปฏิบัติงานความร่วมมือกับเครือข่ายการพัฒนาเด็กปฐมวัยที่มีความต้องการพิเศษ

5. อบรมเลี้ยงดูและจัดประสบการณ์การเรียนรู้ตามนโยบายของศูนย์  

6. จัดทำแผนการจัดประสบการณ์การเรียนรู้หรือแผนพัฒนารายบุคคล

7. ทำรายงานพัฒนาการของเด็กเป็นรายบุคคล

8. จัดหา/ผลิตสื่อ นวัตกรรมสำหรับใช้ในการส่งเสริมพัฒนาการและการเรียนรู้

9. จัดหา/จัดทำเครื่องมือวัดและประเมินผลพัฒนาการและการเรียนรู้ . และประเมินพัฒนาการของเด็กที่อยู่ในความดูแลอย่างสม่ำเสมอ

10. ประสานสัมพันธ์ระหว่างศูนย์กับผู้ปกครอง ชุมชน

11. พัฒนาตนเองให้มีความรู้ทางวิชาการและเทคโนโลยี 

12. จัดระบบธุรการและข้อมูลสารสนเทศของเด็กที่ได้รับมอบหมายให้ดูแล

13. รวบรวมผลงานรายงานผลการปฏิบัติงานตามลำดับ

14. ปฏิบัติงานอื่นตามที่ได้รับมอบหมาย

 

ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก


ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก

             ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก เป็นสถานศึกษาที่ให้การอบรมเลี้ยงดู จัดประสบการณ์และส่งเสริมพัฒนาการ การเรียนรู้ให้เด็กเล็กที่มีอายุตั้งแต่ 2 – 5 ปี ให้มีความพร้อม ด้านร่างกาย อารมณ์ จิตใจ สังคมและสติปัญญา ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กตั้งกระจายอยู่ทั่วประเทศ ส่วนราชการต่าง ๆ ที่ดำเนินการจัดตั้งสถานพัฒนาเด็กปฐมวัย ได้แก่ กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย กรมการศาสนา กระทรวงศึกษาธิการ (ปัจจุบันอยู่ในสังกัดกระทรวงวัฒนธรรม) ดำเนินการในวัด/มัสยิด และสำนักงาน คณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติ (สปช.) ดำเนินการในโรงเรียน โดยเป็นศูนย์พัฒนาเด็กเล็กที่ส่วนราชการต่าง ๆ ถ่ายโอนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจัดตั้งขึ้นเอง ถือว่าเป็นสถานศึกษาตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.. 2542 มาตรา 18 และมาตรา 4 ปัจจุบันทั่วประเทศมีอยู่ประมาณกว่า 19,000 แห่ง                                                                 
บทบาทหน้าที่ของศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก  คือ การให้บริการ การอบรมเลี้ยงดู การจัดประสบการณ์และส่งเสริมพัฒนาการเรียนรู้ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กเป็นสถานศึกษาที่ให้การอบรมเลี้ยงดูจัดประสบการณ์และส่งเสริมพัฒนาการเรียนรู้ให้เด็กเล็กได้รับการพัฒนา ทั้งด้านร่างกาย อารมณ์-จิตใจ สังคม และสติปัญญาที่เหมาะสมตามวัยตามศักยภาพของเด็กแต่ละคน ดังนั้น ระยะเวลาการจัดการเรียนรู้และแนวทางการจัดการเรียนรู้ของศูนย์พัฒนาเด็กเล็กจึงต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่องและเหมาะสมเพื่อให้เด็กเล็กได้รับการศึกษาและพัฒนาเป็นไปตามวัยแต่ละช่วงอายุ สอดคล้องกับสังคม วัฒนธรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่น และหลักสูตรการศึกษาปฐมวัย ให้เด็กเล็กพร้อมที่จะเข้ารับการศึกษาในระดับที่สูงขึ้นต่อไป ตาม ระยะเวลาเรียนรู้ในรอบปีการศึกษาโดยให้ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กเปิดภาคเรียนรวมกันแล้วไม่น้อยกว่า 230 วัน โดยมีการให้บริการต่าง ๆ ดังนี้
             1. การให้บริการส่งเสริมสนับสนุนเด็กเล็ก ได้แก่  อาหารกลางวัน  อาหารว่าง เครื่องนอนอาหารเสริม (นม) วัสดุ สื่อ อุปกรณ์การศึกษา และวัสดุครุภัณฑ์ การตรวจสุขภาพเด็กเล็กประจำปี โดยบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข  บริการอื่น ๆ ที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีความพร้อม เช่น เป็นศูนย์ 3 วัยและหรือศูนย์การเรียนรู้ชุมชน เป็นต้น

             2 การให้บริการอบรมเลี้ยงดู จัดประสบการณ์ และส่งเสริมพัฒนาการเรียนรู้ให้เด็กเล็ก อายุ 2-5 ปี ที่มีภูมิลำเนาอยู่ในเขตองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้น หรือใกล้เคียงได้ตามศักยภาพขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

             3. จัดประสบการณ์ และส่งเสริมพัฒนาการเรียนรู้ ให้เด็กเล็กมีการพัฒนาการครบทั้ง 4 ด้าน คือด้านร่างกาย อารมณ์-จิตใจ สังคม และสติปัญญา ให้เหมาะสมตามวัย ศักยภาพของเด็กแต่ละคน ตามมาตรฐานการดำเนินงานศูนย์พัฒนาเด็กเด็กเล็กขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ด้านวิชาการและกิจกรรมตามหลักสูตร

             4. กรณีจำเป็นต้องใช้ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กเพื่อประชุม สัมมนา ฝึกอบรม จัดกิจกรรมเสริมหลักสูตร หรือกิจกรรมอื่นใดที่เป็นประโยชน์ต่อราชการและชุมชน หรือเหตุจำเป็นอื่นที่ไม่อาจเปิดเรียนได้ตามปกติ ให้ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สั่งปิดศูนย์พัฒนาเด็กเล็กได้ไม่เกิน 15 วัน หากเป็นเหตุพิเศษที่เกิดขึ้นจากภัยพิบัติสาธารณะ ให้ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สั่งปิดศูนย์พัฒนาเด็กเล็กได้ไม่เกิน 30 วัน โดยให้ทำคำสั่งปิดเป็นหนังสือ และต้องกำหนดการเรียนชดเชยให้ครบตามจำนวนวันที่สั่งปิด

             6. ในระหว่างปิดภาคเรียน หรือปิดศูนย์พัฒนาเด็กเล็กตามข้อ 1.4.5 ให้ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีคำสั่งให้หัวหน้าศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ครูผู้ดูแลเด็ก ผู้ช่วยครู ผู้ดูแลเด็ก หรือพนักงานจ้างอื่นในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กมาปฏิบัติงานเกี่ยวกับการเตรียมการด้านวิชาการ หลักสูตร การจัดการเรียนรู้แก่เด็กเล็ก สื่อ นวัตกรรม วัสดุอุปกรณ์ต่าง ๆ การจัดสภาพแวดล้อม หรือการพัฒนาศูนย์ในด้านต่าง ๆ หรืองานด้านการศึกษาปฐมวัยอื่น

             การกำหนดอัตราบุคลากรในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ให้ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กมีหัวหน้าศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก 1 อัตรา มีอัตราครูผู้ดูแลเด็กเป็นไปตามสัดส่วน (ครู:นักเรียน) 1:20 หากมีเศษตั้งแต่ 10 คน ขึ้นไป ให้เพิ่มครูผู้ดูแลเด็กได้อีก 1 คน โดยจัดการศึกษาห้องละ 20 คน  สำหรับอัตราผู้ช่วยครูผู้ดูแลเด็ก และตำแหน่งอื่น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นพิจารณากำหนดให้มีได้ตามจำนวนที่เหมาะสมและสอดคล้องกับฐานะการคลังขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

ภารกิจในการพัฒนาเด็กปฐมวัยของศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก

การจัดการศึกษาระดับปฐมวัยเน้นที่การเตรียมความพร้อมให้กับเด็ก การให้ความรักความอบอุ่น ส่งเสริมพัฒนาการสำหรับเด็กอายุ 3-6 ปี ให้เกิดวุฒิภาวะทางกาย อารมณ์ สังคม และสติปัญญา โดยให้โอกาสทั้งเด็กปกติ เด็กด้อยโอกาส และเด็กที่มีความต้องการพิเศษ ให้ได้รับการพัฒนาเต็มตามศักยภาพ หลักสูตรการจัดการศึกษาระดับปฐมวัยนั้นมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้เด็กมีพัฒนาการที่ครอบคลุม ด้านร่างกาย จิตใจ สังคม และสติปัญญา ดังนี้ (กรมวิชาการ 2546)

1. ร่างกายเจริญเติบโตตามวัย และมีสุขนิสัยที่ดี

2. กล้ามเนื้อใหญ่และกล้ามเนื้อเล็กแข็งแรงใช้ได้อย่างคล่องแคล่วและประสาน สัมพันธ์กัน

3. มีสุขภาพจิตดีและมีความสุข

4. มีคุณธรรม จริยธรรมและมีจิตใจที่ดีงาม

5. ชื่นชมและแสดงออกทางศิลปะ ดนตรี การเคลื่อนไหว รักการออกกำลังกาย

6. ช่วยเหลือตนเองได้เหมาะสมกับวัย

7. รักธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม วัฒนธรรมและความเป็นไทย

8. อยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุขและปฏิบัติตนเป็นสมาชิกของสังคมในระบอบประชาธิปไตยอันมี

พระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

9. ใช้ภาษาสื่อสารได้เหมาะสมกับวัย

10. มีความสามารถในการคิดและการแก้ปัญหาเหมาะสมกับวัย

11. มีจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์

12. มีเจตคติที่ดีต่อการเรียนรู้ และมีทักษะในการแสวงหาความรู้

วันอาทิตย์ที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2557

แนวทางการจัดการเรียนการสอนเกี่ยวกับอาชีพ ในโรงเรียนระดับประถมศึกษา


ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.จรีลักษณ์ รัตนาพันธ์
         การเรียนรู้เกี่ยวกับการอาชีพเป็นสิ่งสำคัญมากในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยเฉพาะสำหรับผู้เรียนที่ไม่มีโอกาสศึกษาต่อ หรือต้องการจะไปประกอบอาชีพหลังจากจบการศึกษาในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานแล้ว  เห็นได้จากมีการบรรจุเนื้อหาวิชานี้ไว้ในหลักสูตรการศึกษาภาคบังคับของไทยมาตั้งแต่เริ่มมีการจัดการศึกษา  สำหรับแนวทางในการจัดประสบการณ์การเรียนรู้การอาชีพ กระทรวงศึกษาธิการได้เสนอแนะไว้ดังนี้
         ในปี 2533 กรมวิชาการ กระทรวงศึกษาธิการ (2533 : 71 – 72) ได้เสนอแนะเกี่ยวกับการจัดประสบกาณ์เรียนรู้กลุ่มการงานและพื้นฐานอาชีพว่า  นอกจากการฝึกปฏิบัติงานเน้นการเกิดทักษะเฉพาะของตนเองแล้วยังต้องให้รู้ถึงกระบวน การทำงานร่วมกับผู้อื่นด้วย ทักษะสำคัญที่ทำให้การทำงานร่วมกับผู้อื่นให้ประสบผลสำเร็จมี 3 ประการ คือ
                             1. มีทักษะจำเป็นในการทำงานกลุ่ม คือ ทักษะในการพูด ฟัง อภิปรายประสาน ความคิดและสรุปผล การเสนอผลงาน การทำหน้าที่หัวหน้าเลขานุการ และสมาชิกของกลุ่ม
                             2. การมีทักษะในกระบวนการทำงาน ได้แก่ การวิเคราะห์งาน การวางแผนในการทำงาน และการปฏิบัติงานตามแผน
                             3. การมีคุณธรรมในการทำงานร่วมกัน ได้แก่ ความรับผิดชอบความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ความไม่เอาเปรียบผู้อื่น เป็นต้น
ต่อมาในปี พ.ศ.2544 ประเทศไทยมีการเปลี่ยนแปลงหลักสูตรการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยจัดการเรียนการสอนเป็น 4 ช่วงชั้น และเปลี่ยนจากการเรียนรู้วิชาบังคับ วิชาบังคับเลือก วิชาเลือกเสรี  มาเป็น 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้ ซึ่งมีสาระการงานอาชีพและเทคโนโลยี รวมอยู่ด้วย กระทรวงศึกษาธิการ (2546 หน้า 8 - 10) ได้เสนอแนะเกี่ยวกับการจัดประสบการณ์เรียนรู้สาระการอาชีพ  ว่าในการเตรียมผู้เรียนเพื่อให้มีความรู้ความสามารถด้านงานอาชีพนั้นจะต้องทำเป็นขั้นตอน เพราะผู้เรียนมีความแตกต่างกันในเรื่อง วัย วุฒิภาวะ พื้นความรู้ความสามารถ และประสบการณ์ในการจัดประสบการณ์การเรียนรู้ควรยึดแนวทาง ดังนี้
          1. จัดการเรียนการสอนให้ยืดหยุ่นทันต่อการเปลี่ยนแปลง โดยให้สอดคล้องกับปัญหาและสภาพแวดล้อม
          2. ให้นักเรียนได้เรียนตามความถนัดของตนเอง
          3. เน้นการเรียนการสอนทั้งภาคปฏิบัติและภาคทฤษฎี เพื่อให้นักเรียนมีประสบการณ์เกี่ยวกับการทำงาน สามารถนำหลักการและวิธีการมาใช้กับการทำงาน
         จึงพอสรุปได้ว่า  แนวทางในการจัดการประสบการณ์เรียนรู้สำหรับผู้เรียนสาระการอาชีพในระดับประถมศึกษานั้น ผู้สอนควรยึดแนวทางดังนี้
1.       จัดให้ผู้เรียนได้เรียนตามความถนัดโดยจัดการเรียนการสอนทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ
2.       ในการจัดประสบการณ์เรียนรู้ภาคปฏิบัติเน้นให้ผู้เรียนเกิดทักษะ ประสบการณ์ โดยให้ผู้เรียนมีโอกาสลงมือปฏิบัติด้วยตนเองเพื่อให้สามารถนำหลักการและวิธีการมาใช้กับการทำงานได้
3.       ส่งเสริมให้ผู้เรียนเป็นผู้มีคุณธรรม จริยธรรมที่จำเป็นต่อการประกอบอาชีพ โดยให้ผู้เรียนได้ฝึกทำงานเป็นกลุ่มร่วมกับผู้อื่น
4.       การกำหนดประสบการณ์เรียนรู้ควรให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ผ่านการทำกิจกรรมที่สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมและมีความเหมาะสมกับผู้เรียน


................................................................................................................................................................

วันเสาร์ที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2557

หลักการของการจัดการเรียนรู้เกี่ยวกับงานอาชีพ ในระดับประถมศึกษา


ในการจัดการเรียนรู้เกี่ยวกับงานอาชีพสำหรับผู้เรียนในระดับประถมศึกษา ครูควรยึดหลักการดังต่อไปนี้
1.       หลักการกำหนดเนื้อหาและจุดประสงค์ของการเรียนรู้  ในการกำหนดเนื้อหาที่จะเรียนควรกำหนดให้สอดคล้องกับหลักสูตรและบริบทของผู้เรียนเป็นสำคัญ  เนื่องจากผู้เรียนจะต้องได้รับการจัดประสบการณ์เรียนรู้ให้มีความรู้ตามตัวชี้วัดของหลักสูตรที่กระทรวงศึกษาธิการกำหนด ในขณะเดียวกันกับที่ครูจะต้องคำนึงถึงการเตรียมผู้เรียนให้รู้จักตนเองภายใต้บริบทของผู้เรียนแต่ละคน  ดังนั้นในการกำหนดเนื้อหาและจุดประสงค์ของการเรียนรู้แต่ละบทเรียนควรกำหนดไว้ตามลำดับ ของขั้นตอนในการการเรียนรู้  โดยกำหนดเนื้อหาให้สอดคล้องกับบริบทของผู้เรียนและกำหนดเป็นจุดประสงค์เชิงพฤติกรรมมีลำดับขั้นตอนของความรู้ให้ต่อเนื่องกันไป ที่สำคัญควรให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมและรับรู้ในการกำหนดจุดประสงค์ของการเรียนรู้ในทุก ๆ บทเรียน
2.       หลักการสร้างแรงจูงใจ การสร้างแรงจูงใจเป็นการกระตุ้นให้ผู้เรียนมีความสนใจอยากเรียนรู้สิงที่ครูกำลังจะนำเสนอหรือจัดประสบการณ์การเรียนรู้  สำหรับการสร้างแรงจูงใจในการเรียนรู้งานอาชีพ ครูควรใช้กรณีตัวอย่างความสำเร็จของบุคคลในการประกอบอาชีพแขนงที่เกี่ยวข้องกับอาชีพที่ครูจะจัดการเรียนรู้  มาใช้เป็นตัวอย่างให้นักเรียนพิจารณาแล้วกระตุ้นด้วยการใช้คำถามตัวอย่างเช่น  นักเรียนอยากทราบวิธีการที่ทำให้บุคคลเหล่านั้นประสบความสำเร็จหรือไม่  หรือสอบถามนักเรียนว่าอยากทราบหรือไม่ว่าการประกอบอาชีพที่ของบุคคลที่ครูยกตัวอย่างนั้นต้องทำอะไรบ้าง  เป็นต้น
3.       หลักการจัดกิจกรรมที่เหมาะกับความพร้อมและบริบทของผู้เรียน  ในการพิจารณาว่าจะจัดประสบการณ์เรียนรู้แบบใดกับนักเรียนที่ครูต้องรับผิดชอบนั้น  หลักสำคัญคือ ต้องคำนึงถึงความพร้อมของผู้เรียน  กล่าวคือ ความพร้อมทางด้านสติปัญญา ร่างกาย อารมณ์ สังคมของผู้เรียน ได้แก่ ความรู้พื้นฐานเดิม ความสามารถในการรับรู้และเรียนรู้  ความสามารถในการทำงานกลุ่มหรือการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น  ความสามารถในการสืบค้นข้อมูล  การใช้เทคโนโลยีสารสนเทศต่าง ๆ เป็นต้น สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นข้อมูลที่ครูต้องคำนึงถึงและนำมาใช้ประกอบการพิจารณาเลือกวิธีการจัดประสบการณ์เรียนรู้แก่ผู้เรียนให้เหมาะสม  ในกรณีผู้เรียนระดับประถมศึกษาที่อยู่ในเมือง มีเครื่องคอมพิวเตอร์และเครือข่ายที่สมบูรณ์ ผู้เรียนมีความสามารถใช้คอมพิวเตอร์ในการสืบค้นข้อมูล ครูอาจจัดประสบการณ์เรียนรู้โดยใช้การสอนบนเครือข่าย ให้ผู้เรียนสืบค้นข้อมูลหรือเรียนรู้ผ่านระบบอินเตอร์เนต  ส่วนผู้เรียนที่อยู่ในชนบทไม่มีความพร้อมในการใช้คอมพิวเตอร์สืบค้นข้อมูลครูควรพิจารณาใช้วิธีการจัดประสบการณ์เรียนรู้อื่น เช่น ใช้การเรียนแบบร่วมมือ แล้วการค้นคว้าในห้องสมุด หรือเก็บข้อมูลจากชาวบ้านที่เป็นภูมิปัญญาท้องถิ่น เป็นต้น
4.       หลักการใช้แหล่งวิทยาการ  ในการจัดประสบการณ์เรียนรู้การงานอาชีพ ครูจะต้องจัดการเรียนรู้ที่ให้ผู้เรียนมีประสบการณ์ทั้งในห้องเรียนและนอกห้องเรียน  กิจกรรมที่จะขาดมิได้ในการจัดประสบการณ์เรียนรู้การงานอาชีพคือ  การเรียนรู้ในสถานประกอบการณ์ ซึ่งครูจะต้องพิจารณาเลือกแหล่งเรียนรู้ที่จะใช้เป็นแหล่งวิทยาการสำหรับผู้เรียนของตนให้เหมาะสม  โดยพิจารณาทั้งบุคคลที่จะเป็นวิทยากรและสภาพสิ่งแวดล้อมที่จะเอื้อให้เกิดการเรียนรู้แก่ผู้เรียนให้มากที่สุด  แหล่งวิทยาการที่ครูควรพิจารณาเป็นอันดับแรก คือ แหล่งวิทยาการที่อยู่ในท้องถิ่น ในบริเวณใกล้กับโรงเรียน เช่น บริเวณโรงเรียน ชุมชน  ร้านค้า  สถานีอนามัย  สถานีตำรวจ โรงงานอุตสาหกรรม แหล่งเกษตรกรรม เช่น สวนหรือไร่นา ที่อยู่ใกล้โรงเรียน เป็นต้น
          จึงสรุปได้ว่าในการจัดประสบการณ์การเรียนรู้การงานอาชีพ ในระดับประถมศึกษานั้น ครูควรยึด
หลักการสำคัญ 4 ประการ คือ หลักการกำหนดเนื้อหาและจุดประสงค์การเรียนรู้  หลักการสร้างแรงจูงใจ  หลักจัดกิจกรรมที่เหมาะกับความพร้อมและบริบทของผู้เรียน  และหลักการใช้แหล่งวิทยาการ ทั้งนี้ควรคำนึงถึงความเป็นไปได้ในการก่อให้เกิดการเรียนรู้แก่ผู้เรียนเป็นสำคัญ

วันอาทิตย์ที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2557

ความสำคัญของการจัดการเรียนรู้ด้านอาชีพ


                   ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.จรีลักษณ์ รัตนาพันธ์

การมีอาชีพ เป็นสิ่งที่สำคัญในวิถีชีวิตและการดำรงชีพในปัจจุบัน เพราะอาชีพเป็นการสร้างรายได้เพื่อเลี้ยงชีพตนเองและครอบครัว อาชีพก่อให้เกิดผลผลิตและการบริการ ซึ่งสนองตอบต่อความต้องการของผู้บริโภคและที่สำคัญคือ อาชีพมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศชาติความสำคัญของอาชีพจึงเป็นฟันเฟืองสำคัญในการพัฒนาคุณภาพชีวิต เศรษฐกิจชุมชนส่งผลถึงความเจริญก้าวหน้าของประเทศชาติ
การจัดการเรียนรู้เกี่ยวกับ “อาชีพ” จึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งโดยเฉพาะในการจัดการเรียนรู้ในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ซึ่งเป็นช่วงเวลาในการเตรียมความพร้อมของผู้เรียนที่จะเลือกการประกอบอาชีพของตนเองต่อไปในอนาคต ในที่นี้จะกล่าวถึงความสำคัญของการจัดการเรียนรู้การอาชีพใน 2 ประเด็น คือ  ความสำคัญของการจัดประสบการณ์การเรียนรู้การอาชีพในระดับบุคคล  และความสำคัญของการจัดประสบการณ์การเรียนรู้การอาชีพในระดับครอบครัวและชุมชน  ซึ่งจะเสนอไว้ตามลำดับดังนี้
           1. ความสำคัญของการจัดประสบการณ์การเรียนรู้สาระการอาชีพในระดับบุคคล  ประกอบด้วย
   1.1   ความสำคัญของการจัดการเรียนรู้การอาชีพที่มีต่อผู้เรียน การจัดการเรียนรู้การ
อาชีพมีความสำคัญต่อผู้เรียน ดังนี้
1)      ทำให้ผู้เรียนมีความรู้เกี่ยวกับความหมายและความสำคัญของอาชีพ  ทำให้
ผู้เรียนรู้จักอาชีพต่าง ๆ ที่มีอยู่โดยเฉพาะอาชีพในชุมชน
2)      ทำให้ผู้เรียนรู้จักตนเองในด้านของความสามารถและความสนใจในการประกอบ
อาชีพในอนาคต
3)      ทำให้ผู้เรียนมีทักษะพื้นฐานในการทำงาน ได้แก่ มีทักษะในการทำงาน มีทักษะ
ในการจัดการ การแก้ปัญหา การทำงานร่วมกับผู้อื่นและมีทักษะในการแสวงหาความรู้ 
4)      ทำให้ผู้เรียนเป็นผู้มีคุณธรรมที่จำเป็นต้องใช้ในการประกอบอาชีพ ได้แก่         
มีความซื่อสัตย์ มีความขยันอดทน มีความยุติธรรม และมีความรับผิดชอบ
                  1.2 ความสำคัญของการจัดการเรียนรู้สาระการอาชีพที่มีต่อผู้ปกครอง  การจัดการเรียนรู้การ
อาชีพมีความสำคัญต่อผู้ปกครองนักเรียน ดังนี้
1)      ทำให้ผู้ปกครองได้ทราบถึงพัฒนาการด้านความสามารถในการทำงาน และความสนใจในการประกอบอาชีพในอนาคตของผู้บุตรหลานที่อยู่ในปกครอง ซึ่งเป็นข้อมูลสำคัญที่จะนำไปใช้ในการตัดสินใจวางแผนอนาคตทางการศึกษาและการประกอบอาชีพของบุตรหลานได้อย่างดี
2)      ผู้ปกครองได้รับความรู้เกี่ยวกับเรื่องงานอาชีพโดยทางอ้อมจากการมีส่วนร่วมในการช่วยเหลือให้เกิดการเรียนรู้ และประเมินผลการเรียนรู้ของบุตรหลานตามที่โรงเรียนกำหนด เช่น การประเมินการปฏิบัติงานและประเมินชิ้นงานของนักเรียน การรายงานพฤติกรรมการปฏิบัติตนในช่วงที่นักเรียนอยู่ที่บ้าน เป็นต้น
3)      การจัดการเรียนรู้การอาชีพของสถานศึกษาส่วนใหญ่จะมีการขยายผลการจัดกิจกรรมสู่ผู้ปกครองและชุมชน ได้แก่ การจัดการฝึกอาชีพในวันหยุดเสาร์อาทิตย์ เป็นการให้บริการแก่ชุมชนที่ทำให้ผู้ปกครองและบุคคลต่างๆที่อยู่ในชุมชนมีความรู้และทักษะในการประกอบอาชีพและยังสามารถนำไปใช้ในการประกอบอาชีพก่อให้เกิดรายได้เสริม ซึ่งจะส่งผลให้สถานภาพทางเศรษฐกิจของคนในชุมชนดีขึ้นได้อีกทางหนึ่ง
4)      การจัดการเรียนรู้การอาชีพที่สถานศึกษาจัดขึ้นนั้น จะมีการให้ผู้เรียนได้เยี่ยมชมหรือสังเกตการปฏิบัติจากผู้รู้ผู้ชำนาญในแต่ละสาขาอาชีพที่กำหนดไว้ในหลักสูตร การจัดประสบการณ์ในลักษณะนี้นิยมเชิญภูมิปัญญาท้องถิ่นที่อยู่ในชุมชนเป็นวิทยากรพิเศษให้ความรู้แก่ผู้เรียนซึ่งอาจเป็นผู้ปกครองนักเรียนหรือบุคคลในชุมชน  การจัดประสบการณ์เรียนรู้ลักษณะนี้จะก่อให้เกิดสัมพันธภาพอันดีระหว่างผู้ปกครองกับครูและผู้บริหารโรงเรียน
2. ความสำคัญของการจัดการเรียนรู้การอาชีพในระดับครอบครัวและชุมชน 
การจัดประสบการณ์การเรียนรู้สาระการอาชีพ ระดับประถมศึกษามีความสำคัญต่อครอบครัวและชุมชน ดังนี้
1)      ช่วยส่งเสริมสัมพันธภาพที่ดีระหว่างสมาชิกในครอบครัว  การที่สถานศึกษาจัดให้ผู้เรียนทำกิจกรรมการเรียนรู้ด้านอาชีพซึ่งจะต้องมีการจัดเตรียมอุปกรณ์และฝึกฝนปฏิบัติกิจกรรม ตลอดจนลงมือปฏิบัติจริงซึ่งต้องใช้ระยะเวลาในการปฏิบัติงานนาน  งานบางอย่างต้องทำที่บ้าน  เช่น อาชีพด้านการถักทอ การทำเครื่องประดับ ผู้ปกครองอาจมีส่วนร่วมในการฝึกหัดให้บุตรหลานของตนที่บ้าน การได้อยู่ใกล้ชิดกันจะทำให้เกิดสัมพันธภาพที่ดีระหว่างพ่อแม่ ผู้ปกครองและนักเรียนให้มีมากยิ่งขึ้นได้
2)      ช่วยให้บุคคลในชุมชนมีความรู้ที่จะนำไปใช้ในการประกอบอาชีพ  ซึ่งก่อเกิดรายได้ที่จะนำไปใช้ในการดำรงชีวิตต่อไป บุคคลในชุมชนสามารถพึ่งพาตนเองได้อันเป็นผลให้เกิดมั่นคงในทางเศรษฐกิจในชุมชน
3) ก่อให้เกิดความเข้มแข็งทางสังคมระหว่างบุคคลที่อาศัยอยู่ในชุมชน การที่บุคคลมา
    ร่วมรับความรู้และฝึกประสบการณ์ด้านอาชีพร่วมกัน  จะก่อให้เกิดความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน                มีความรักความสามัคคีกันระหว่างบุคคลในชุมชน