ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.จรีลักษณ์
รัตนาพันธ์
สาขาวิชาศึกษาศาสตร์
มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช
ทักษะทางสังคมเป็นทักษะหนึ่งที่สำคัญและจำเป็นทั้งในระดับบุคคล
ครอบครัว ชุมชนและสังคม เป็นทักษะที่จำเป็นสำหรับบุคคลทุกเพศ ทุกวัย เพื่อใช้ในการปฏิสัมพันธ์
ติดต่อสื่อสาร และการอยู่ร่วมกันของบุคคลในสังคม
บุคคลที่มีทักษะทางสังคมดีจะสามารถอยู่ร่วมกับบุคคลในครอบครัว ชุมชน
และสังคมได้อย่างมีความสุข ทักษะสังคมเป็นทักษะที่จำเป็นต้องได้รับการฝึกฝนอย่างเป็นระบบเช่นเดียวกับทักษะอื่น
ๆ
ความหมาย
ทักษะทางสังคม มาจากคำสองคำ คือ คำว่า ทักษะ กับ คำว่า สังคม
เพื่อความเข้าใจที่ชัดเจนยิ่งขึ้นจะขออธิบายพอสังเขปดังนี้
ทักษะ
หมายถึง ความสามารถในการทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งจนชำนาญ
สังคม เป็นคำที่มาจากภาษาบาลี
ประกอบด้วยคำ “สัง” แปลว่า ด้วยกัน พร้อมกัน
ส่วนคำว่า “คม” แปลว่า
ดำเนินไป
เมื่อนำมารวมกันจึงสามารถแปลได้ว่า ไปด้วยกัน ไปพร้อมกัน (จำนงค์ อดิวัฒนสิทธิ์ 2545: 59)
สังคม หมายถึง
คนจำนวนหนึ่งที่มีความสัมพันธ์ต่อเนื่องกันตามระเบียบกฎเกณฑ์
โดยมีวัตถุประสงค์ร่วมกัน (ราชบัณฑิตยสถาน 2524: 371)
จึงอาจสรุปได้ว่า ทักษะทางสังคม หมายถึง
ความสามารถของบุคคลในการปฏิบัติตนเพื่อให้สามารถอยู่ร่วมกับบุคคลอื่น
หรือทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งร่วมกับบุคคลอื่นตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้
ภายใต้ระเบียบกฏเกณฑ์ของสังคมนั้นๆ ได้อย่างเหมาะสม
ทักษะทางสังคม เป็นความสามารถในการรู้จัก เข้าใจ
สร้างสรรค์และประสาน ความรู้สึก ความต้องการ ความสัมพันธ์ ตลอดจนแก้ปัญหาและจัดการกับการปฏิสัมพันธ์ของบุคคลที่มีต่อกัน
ทักษะทางสังคมประกอบด้วยกลุ่มของทักษะต่าง ๆ
ที่ใช้ในการปฏิสัมพันธ์และการสื่อสารระหว่างกันของบุคคลในสังคมได้แก่
ทักษะการสื่อสาร การพูด การฟัง การทำงานร่วมกัน ความสามารถในการเข้าใจถึงสถานการณ์ที่หลากหลาย
กฎกติกาต่าง ๆ ในสังคม
โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความสัมพันธ์ในทางบวกให้เกิดขึ้น
ทฤษฎีพัฒนาการทางสังคม
อีริคสัน
(Erik Erikson ) นักจิตวิทยาอธิบายเกี่ยวกับการพัฒนาทักษะทางสังคมว่ามีความเกี่ยวข้องกับการพัฒนาบุคลิกภาพ
บุคคลจะมีการพัฒนาบุคลิภภาพตลอดชีวิต และเป็นสิ่งสำคัญที่มีอิทธิพลต่อการมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคม
หรือการมีสัมพันธ์กับบุคคลอื่น ๆ ในสังคมนั่นเอง
อิริคสันได้จำแนกพัฒนาการทางบุคลิกภาพของบุคคลไว้ 8 ขั้น คือ
ขั้นที่
1 ความรู้สึกไว้วางใจและความไม่ไว้วางใจ (
Trust
VS Mistrust ) จะเริ่มขึ้นระหว่างช่วงอายุแรกเกิดถึง 1
ขวบ ถ้าเด็กได้รับอาหาร ความรัก ความเอาใจใส่และความใกล้ชิดจากมารดาหรือพี่เลี้ยงเป็นอย่างดี
เด็กจะเกิดความรู้สึกไว้วางใจและความอบอุ่นมั่นคง ในทางตรงข้ามหากถูกทอดทิ้งและไม่ได้ความรักจะเกิดความรู้สึกไม่ไว้วางใจใครในวัยเด็ก
ขั้นที่
2 ความเป็นตัวของตัวเองและความสงสัย ( Autonomy VS Doubt)
ความรู้สึกนี้จะเกิดในช่วงปีที่ 2 เด็กวัยนี้จะแสดงออกให้เห็นว่าตนเองมีความสามารถ มีความเป็นตัวของตัวเอง ในทางกลับกันหากเด็กไม่ได้รับความสำเร็จหรือความพอใจก็จะเกิดความอายและกลัวการแสดงออก
ขั้นที่
3 การริเริ่มและความรู้สึกผิด ( Initiative
VS Guilt ) เป็นช่วงอายุ 3 ถึง 5 ปี เด็กวัยนี้จะเลียนแบบสมาชิกในครอบครัว ชอบทดลองทำสิ่งใหม่ๆ
ถ้าทดลองแล้วผิดพลาดจะเกิดความขยาดและหวาดกลัว เป็นวัยที่มีปฏิสัมพันธ์กับสมาชิกในครอบครัวและเด็กๆ นอกบ้าน
ขั้นที่
4 ความรู้สึกรับผิดชอบและความรู้สึกปมด้อย
( Industry
VS Interiority ) เกิดขึ้นในช่วงอายุ 6- 11 ปี เด็กวัยนี้จะเริ่มเกี่ยวข้องกับบุคคลนอกบ้านมากขึ้น
เป็นช่วงที่จะขยันเรียน ขยันอ่านหนังสือประเภทต่างๆ พูดคุยและอวดโชว์ความเด่น และชอบแสดงความสามารถของตนเพื่อให้เพื่อนยอมรับ ถ้าทำไม่ได้ก็จะผิดหวังและรู้สึกเป็นปมด้อย
ขั้นที่
5 บุคลิกภาพของตน และความไม่เข้าใจตนเอง (Identity VS
Identity Diffusion ) อยู่ในช่วงอายุ 13-18
ปี เป็นระยะเริ่มเข้าสู่วัยรุ่นซึ่งต้องการสร้างเอกลักษณ์หรือบุคคลิกภาพของตน โดยเลียนแบบจากเพื่อนๆ หรือผู้ใกล้ชิด
ถ้ายังสร้างเอกลักษณ์ของตนไม่ได้จะเกิดความว้าวุ่นและหมดหวัง จึงเป็นช่วงเวลาสำคัญที่ผู้อยู่ใกล้ชิดต้องแสดงแบบอย่างที่ดีเพื่อให้เด็กสร้างบุคลิกภาพที่เหมาะสม
ขั้นที่
6 ความเป็นผู้นำ และความเปล่าเปลี่ยว ( Intimacy VS Isolation ) ช่วงอายุ 19-40 ปี เป็นวัยที่ก้าวสู่ความเป็นผู้ใหญ่มีความต้องการเป็นผู้นำ ต้องการติดต่อและสัมพันธ์กับเพื่อนต่างเพศ จนเป็นเพื่อนสนิทและหรือเป็นคู่ชีวิต หากไม่สามารถทำได้ตามที่คาดหวังก็จะแยกตนเองออกจากสังคมหรืออยู่ตามลำพัง ในวัยนี้จะมีเพื่อนรัก เพื่อนร่วมงาน
และเพื่อนสนิทเป็นจำนวนมาก
ขั้นที่
7 ความเสียสละ และความเห็นแก่ตัว ( Generativity VS Self Absorbtion ) เป็นช่วงวัยกลางคนเป็นวัยที่มีความรับผิดชอบ มีครอบครัว มีการให้กำเนิดบุตร ให้การอบรมเลี้ยงดู ให้การศึกษา
ให้ความรักและความเอาใจใส่เพื่อสร้างคุณภาพชีวิตให้แก่บุตรหลานและสมาชิกในครอบครัว
ขั้นที่
8 ความมั่นคงของชีวิต และความสิ้นหวัง ( Integrity VS
Despair ) อยู่
ในช่วงอายุ
61 ปีขึ้นไป เป็นวัยที่ต้องการความมั่นคงสมบูรณ์ในชีวิต
จะภาคภูมิใจในความสำเร็จแห่งชีวิตและผลงานของตน ถ้าผิดหวังจะเกิดความรู้สึกล้มเหลวในชีวิต
คุณสมบัติของผู้มีทักษะทางสังคมที่ดี
ผู้มีทักษะทางสังคมที่ดี ควรมีคุณสมบัติ
ดังนี้
1.
มีคุณลักษณะส่วนบุคคลที่ดี คุณลักษณะส่วนบุคคลเป็นสิ่งสำคัญที่จะส่งผลให้การพัฒนาทักษะ
ทางสังคมของบุคลลสามารถดำเนินการไปได้จนประสบผลตามที่กำหนดไว้
คุณลักษณะส่วนบุคคลที่ควรได้รับการส่งเสริมให้มีขึ้นได้แก่ ความมุ่งมั่นตั้งใจ ความมีระเบียบวินัย ความรับผิดชอบ
ความขยันหมั่นเพียรและอดทน ความซื่อสัตย์
2.
มีทักษะการสื่อสารดี มีหลายทักษะ แต่ที่จำเป็นเบื้องต้นสำหรับผู้เรียนต้องการพัฒนาทักษะทาง
สังคม
ได้แก่ การพัฒนาทักษะการฟังและการพูด ทักษะการสังเกตและการตีความภาษาท่าทาง เป็นต้น
3.
มีทักษะการจัดการกับตนเองดี ได้แก่ การรู้จักและยอมรับตนเอง
การวางแผนการทำงาน การ
ควบคุมตนเอง
เป็นต้น
4.
มีการตระหนักรู้ทางสังคม เป็นความสามารถของบุคคลในการแสดงออกถึงการรับรู้เกี่ยวกับ
ตนเองว่าเป็นส่วนหนึ่งของสังคมและสิ่งแวดล้อม
การแสดงพฤติกรรมอย่างเหมาะสมในการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างตนเองกับสังคมและสิ่งแวดล้อม
เพื่อให้สามารถอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข คุณสมบัติข้อนี้ได้แก่
การเป็นผู้รู้จักกาลเทศะ และมีมารยาททางสังคมที่เหมาะสม เป็นต้น การจัดกิจกรรมเพื่อให้เกิดความตระหนักรู้ทางสังคมควรเป็นเรื่องจริงที่เกี่ยวข้องกับผู้ทำกิจกรรม
โดยเริ่มจากเรื่องที่อยู่ใกล้ตัวไปสู่เรื่องที่ไกลตัวออกไป ได้แก่ การเรียนรู้ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลในบ้าน
ความสัมพันธ์กับโรงเรียน ความสัมพันธ์กับชุมชนและสิ่งแวดล้อม
พ่อแม่กับการพัฒนาทักษะทางสังคมของบุตรหลาน
ครอบครัวเป็นสังคมแรกที่ลูกจะได้ฝึกทักษะทางสังคม
ดังนั้นเพื่อให้ลูกได้เรียนรู้การใช้ชีวิตในสังคมต่อไปได้อย่างเหมาะสม จึงควรมีการทำกิจกรรมร่วมกับคนในครอบครัว
เพื่อส่งเสริมทักษะเพื่อการอยู่ร่วมกันในครอบครัว และพัฒนาทักษะทางสังคมเพื่อใช้กับเพื่อนและครู
ดังนี้
1.
การพัฒนาทักษะเพื่อการอยู่ร่วมกันในครอบครัว
1.1
กำหนดข้อตกลงของการปฏิบัติตนตลอดจนบทบาทหน้าที่ของสมาชิกในครอบครัว
การ
อยู่ร่วมกันในครอบครัวแม้จะมีสมาชิกจำนวนไม่มาก
ก็ควรมีการกำหนดข้อตกลง หรือระเบียบซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่จำเป็นต้องมีเพื่อให้การฝึกทักษะทางสังคมของลูกเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
ข้อตกลง หรือระเบียบของบ้านเปรียบเสมือนกฏระเบียบของสังคม
ดังนั้นก่อนทำการฝึกทักษะจึงควรร่วมกันสร้างข้อตกลงของบ้าน
โดยพูดคุยแล้วกำหนดเป็นข้อควรปฏิบัติ เช่น เวลาการรับประทานอาหาร การใช้และจัดเก็บของ การปิดเปิดน้ำไฟและอุปกรณ์เครื่องใช้ในบ้าน เป็นต้น
1.2
กำหนดกิจกรรมที่จะทำร่วมกัน เช่น การรดน้ำต้นไม้
การทำความสะอาดบ้าน การ
ประกอบอาหารหรือช่วยจัดโต๊ะอาหาร
อ่านหนังสือหรือเล่นกีฬาร่วมกัน
1.3
ชวนลูกหรือบุตรหลานมาปฏิบัติกิจกรรมร่วมกันตามที่กำหนดไว้
โดยหมั่นพูดคุยและ
แสดงความรักความไว้วางใจให้บุตรหลานได้รับรู้อยู่เสมอ
โดยการใช้ภาษาท่าทาง เช่น การจับมือ การกอด การยิ้มให้ การร่วมกันทำกิจกรรมกับบุคคลในครอบครัวจะช่วยให้ลูกมีความสุข
มีความมั่นใจที่จะแสดงออกกับบุคคลอื่นๆต่อไป
1.4
พ่อแม่ควรฝึกให้ลูกรู้จักการรอคอย การแบ่งปัน การขอบคุณ การขอโทษและให้อภัย ใน
ระหว่างการทำกิจกรรม
เช่น เมื่อช่วยกันรดน้ำต้นไม้ ฝึกให้ลูกรอเมื่อต้องการรองน้ำใส่กระบอกรดน้ำ ขอบคุณเมื่อได้รับการช่วยเหลือหรือได้รับของจากผู้อื่น
ขอโทษเมื่อทำน้ำเปียกรองเท้าหรือเสื้อผ้าของแม่
สิ่งเหล่านี้ผู้ฝึกคือพ่อแม่ผู้ปกครองต้องแสดงให้ลูกเห็นเป็นตัวอย่างก่อนเพื่อให้ลูกรับรู้และบอกให้ลูกปฏิบัติเมื่อเกิดเหตุการณ์เหล่านั้นขึ้น
การฝึกให้พูดและทำบ่อยๆ จะช่วยให้ลูกซึมซับสิ่งที่ได้รับการฝึกนั้นและปฏิบัติได้เองโดยไม่ต้องมีการชี้แนะ
1.5 ควรมีการบอกกล่าวข้อดีของการทำกิจกรรมร่วมกันหลังจากปฏิบัติกิจกรรมเสร็จเรียบร้อยแล้วทุกครั้ง
เพื่อให้บุตรหลานรับรู้และตระหนักถึงการปฏิบัติตนตามแนวทางที่พ่อแม่หรือผู้ปกครองได้อบรมสั่งสอน
2.
การพัฒนาทักษะทางสังคมเพื่อใช้กับเพื่อน
ครูและบุคคลอื่น พ่อแม่
ผู้ปกครองสามารถช่วย
พัฒนาทักษะทางสังคมที่ลูกจะต้องใช้กับเพื่อนและครูได้โดยการปฏิบัติกิจกรรมต่าง
ๆ ที่ทำร่วมกันที่บ้าน
แล้วอธิบายเพื่อเชื่อมโยงให้บุตตรหลานทราบว่าหากอยู่ในชั้นเรียนหรือสถานศึกษา ควรปฏิบัติอย่างไรบ้าง
การฝึกทักษะกับบุตรหลานอาจใช้วิธีการเล่นบทบาทสมมติ เช่น เล่นเป็น ครู นักเรียน
หรือเล่นเป็นเพื่อนในห้องเรียน หรือการดูจากการ์ตูน โฆษณา ละคร
หรือภาพยนตร์ที่เหมาะสม
จะทำให้บุตรหลานสามารถจินตนาการเชื่อมโยงกับเรื่องราวหรือสถานการณ์จริงตนเองเคยประสบมาแล้วได้ง่ายยิ่งขึ้น
ทักษะที่พ่อแม่ผู้ปกครองควรฝึกให้บุตรหลานได้ปฏิบัติเพื่อให้สามารถอยู่ร่วมกับเพื่อนและครูอาจารย์ได้อย่างมีความสุข
ได้แก่
2.1
การแสดงพฤติกรรมที่เหมาะสมในชั้นเรียน ได้แก่
-การเข้าหาคนอื่นๆ
ด้วยท่าทางที่สังคมยอมรับ เช่น การเข้าพบผู้ใหญ่
ไม่ควรยืนค้ำ
ศีรษะขณะที่ผู้ใหญ่นั่งอยู่ ไม่ยืนหรือเดินประชิดตัวครูหรือผู้ใหญ่ การส่งงานในห้องพักอาจารย์
เป็นต้น
-การขออนุญาตก่อนลงมือกระทำ เช่น
การขอยืมของใช้จากเพื่อน การขออนุญาต
ไปห้องน้ำ
หรือออกไปนอกห้องเรียน เป็นต้น
-การสร้างความเป็นเพื่อนและรักษาความเป็นเพื่อนไว้
-การแบ่งปันของอุปกรณ์การเรียนและของเล่น
-การขอโทษ
และการให้อภัย ควรฝึกให้บุตรหลานรู้จักขอโทษและการให้อภัยเพื่อน
ในชั้นเรียน
โดยการพูดคุยเชื่อมโยงจากเรื่องราวที่เกิดขึ้นที่บ้าน
ไปสู่การปฏิบัติตนในชั้นเรียนของบุตรหลาน
เช่น เมื่อพ่อแม่ส่งขนมให้ควรฝึกให้ลูกขอบคุณ พร้อมทั้งสอนว่าเมื่อผู้อื่น
ไม่ว่าจะเป็นเพื่อน ครูหรือผู้ใหญ่คนอื่นส่งของให้ลูกควรกล่าวขอบคุณทุกครั้ง เป็นต้น
2.2
ลักษณะนิสัยการทำงาน/ ทักษะที่ใช้ในการเรียน ได้แก่
-การฟัง การพูด
-ความมุ่งมั่นเอาใจใส่
ความขยัน อดทนในการทำงาน
-การทำตามคำแนะนำ และปฏิบัติตามกฎระเบียบของห้องเรียนและโรงเรียน
-การยอมรับผลที่เกิดขึ้นจากการปฏิบัติของตนเอง
2.3
การจัดการกับความคับข้องใจและความโกรธ ในการเรียนรู้หรือปฏิบัติกิจกรรมร่วมกับ
ผู้อื่น
อาจก่อให้เกิดความคับข้องใจขึ้นได้ ดังนั้นสิ่งที่ควรฝึกให้บุตรหลานปฏิบัติคือ
การจัดการกับความขับข้องใจหรือความโกรธที่เกิดขึ้น ซึ่งอาจทำได้โดย
-การฝึกให้นับถึง 10 ก่อนที่ลูกจะมีปฏิกิริยาตอบโต้
-การทำให้ไม่สนใจเรื่องเหล่านั้นโดยหันไปทำสิ่งอื่นที่ชอบ
-การใช้การแสดงออกด้วยคำพูดทดแทนการปะทะทางร่างกาย
เช่น การขอความช่วยเหลือจากครูหรือเพื่อน
เพื่อให้ช่วยจัดการกับปัญหาหรือข้อขัดแย้ง
-การฝึกให้ลูกเรียนรู้ที่จะควบคุมตนเองโดยการบอกกับตนเองเพื่อทำให้ตัวเองใจเย็นลงและแสดงปฏิกิริยาตอบกลับที่ดีที่สุด
การฝึกแบบนี้พ่อแม่หรือผู้ฝึกจะต้องสอนโดยการบอกให้ลูกคิดตามก่อน เช่น
เมื่อลูกไม่พอใจที่ลูกสุนัขมาคาบรองเท้าของลูกไปไว้ที่อื่น แม่อาจบอกว่า
“สงสัยเจ้าหมาน้อยคงเหงาอยากให้ลูกเล่นด้วย เลยคาบรองเท้าไปซ่อน
อย่าไปโกรธมันเลยนะคะคนดีของแม่ เราไปช่วยกันหารองเท้าของหนูดีกว่า” เป็นต้น การกล่าววาจาที่เป็นเหตุผลในทางบวกจะช่วยให้ลูกรับรู้และคิดตามจนติดเป็นนิสัยที่ดีต่อไป
ขั้นตอนในการพัฒนาทักษะทางสังคม
ผู้ปกครองที่ต้องการจะพัฒนาทักษะทางสังคมให้กับบุตรหลาน
ควรดำเนินการตามขั้นตอนดังต่อไปนี้
1.
ก่อนการปฏิบัติกิจกรรม
ควรปฏิบัติดังนี้
1.1 แยกแยะและกำหนดพฤติกรรมเป้าหมายที่ต้องการจะพัฒนา
/แก้ไขว่ามีพฤติกรรมใดบ้าง
1.2
ตัดสินว่าพฤติกรรมใดที่ต้องการพัฒนาหรือแก้ไข
1.3
กำหนดพฤติกรรมอย่างละเอียดว่าต้องการให้เกิดผลอย่างไรโดยกำหนดสิ่งที่บุตรหลานสามารถจะทำได้หรือแสดงออกหลังจาก
การได้รับการส่งเสริมทักษะนั้นๆแล้ว
1.4
วางแผนและจัดเตรียมการพัฒนา
โดย
1.4.1
การกำหนดกิจกรรมที่จะใช้ในการพัฒนาพฤติกรรมที่กำหนดไว้
1.4.2
กำหนดระยะเวลา
อุปกรณ์ สถานการณ์ และบุคคลผู้ร่วมทำกิจกรรม
2.
ระหว่างการปฏิบัติกิจกรรม
ปฏิบัติกิจกรรมตามที่กำหนดไว้พร้อมทั้งสังเกตพฤติกรรมของบุตรหลานในระหว่างการทำ
กิจกรรม
จดจำและบันทึกพฤติกรรมที่บุตรหลานแสดงออกในระหว่างการทำกิจกรรม
3.
หลังการปฏิบัติกิจกรรม
ควรสรุปผลการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของบุตรหลานที่ต้องการพัฒนาว่ามีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้าง จากนั้นผู้ปกครองควรถามตนเองว่ารู้สึกพอใจกับการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของบุตรหลานนั้นหรือไม่ หากคิดว่ายังไม่ดีพอควรพิจารณาปรับปรุงการทำกิจกรรม
แล้วลองนำไปปฏิบัติตามขั้นตอนที่กำหนดไว้อีกครั้ง
...................................
รายการอ้างอิง
จำนงค์
อดิวัฒนสิทธิ์ (2545) สังคมวิทยาตามแนวพุทธศาสตร์
กทม. มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย สำนักอธิการบดี
ราชบัณฑิตยสถาน
(2524) พจนานุกรมศัพท์สังคมวิทยา อังกฤษ-ไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน กรุงเทพฯ:
ราชบัณฑิตยสถาน
สุรางค์
โค้วตระกูล จิตวิทยาการศึกษา(2552) พิมพ์ครั้งที่ 8 กทม. สำนักพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย