ผู้ช่วยศาสตราจารย์
ดร.จรีลักษณ์ รัตนาพันธ์
สาขาวิชาศึกษาศาสตร์
มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช
Inclusive
Classroom เป็นห้องที่ใช้ในการจัดประสบการณ์เรียนรู้แก่ผู้เรียนที่มีศักยภาพในการรับรู้และเรียนรู้ที่หลากหลาย
แต่ละคนจะมีความสามารถในการรับรู้และเรียนรู้ที่แตกต่างกัน บางคนเป็นผู้เรียนปกติ
คือสามารถเรียนรู้ได้ด้วยวิธีการตามปกติทั่วๆไปเช่นเดียวกับผู้เรียนคนอื่น ๆ
แต่ผู้เรียนบางคนต้องเรียนรู้ด้วยวิธีการที่แตกต่างไป
เพื่อให้การจัดการเรียนรู้ในห้องเรียนรวมนี้มีประสิทธิภาพ
ครูผู้สอนจะต้องเตรียมทั้งวิธีการ สื่อ
ตลอดจนการวัดและประเมินผลการเรียนรู้ให้สอดคล้องและเหมาะสมกับผู้เรียน
พร้อมทั้งจัดทำแผนการศึกษาเฉพาะบุคคลของผู้เรียนแต่ละคนไว้ตั้งแต่ต้นปีการศึกษา การจัดการศึกษาในห้อง inclusive room หรือห้องเรียนรวม จึงมีทั้งการจัดการศึกษาแบบปกติสำหรับผู้เรียนทั่วไป
และการจัดการศึกษาพิเศษ สำหรับผู้เรียนที่มีความต้องการพิเศษ
การศึกษาพิเศษแตกต่างไปจากการศึกษาสำหรับเด็กปกติ ในด้านเกี่ยวกับวิธีสอน ขบวนการ
เนื้อหาวิชา(หลักสูตร) เครื่องมือ และอุปกรณ์การสอนที่จำเป็น การศึกษาพิเศษควรจัดให้สนองความต้องการและความสามารถของแต่ละบุคคล
เด็กที่มีความต้องการพิเศษมีความแตกต่างกันมาก
ดังนั้นการจัดการศึกษาสำหรับเด็กประเภทนี้จึงควรสนองความต้องการและความสามารถของเด็ก
(ผดุง อารยะวิญญู 2542: 13-14) เพื่อให้เกิดความเข้าใจมากยิ่งขึ้นจะขออธิบายถึงคำศัพท์ที่เกี่ยวข้อง
ดังนี้
การเรียนรวม
(Inclusive Education) มีการหลักการสำคัญ
คือให้เด็กเลือกโรงเรียน ซึ่งต่างจากการจัดการศึกษาแบบการเรียนร่วม
ที่โรงเรียนเป็นฝ่ายเลือกเด็ก
ในการเรียนรวมเด็กทุกคนควรมีสิทธิจะเรียนรวมกันโดยทางโรงเรียนและครูเป็นผู้ปรับสภาพแวดล้อม
หลักสูตร การประเมินผล วัตถุประสงค์ ฯลฯ
เพื่อครูและโรงเรียนสามารถจัดการเรียนการสอนเพื่อสนองตอบความต้องการของนักเรียนทุกคนและเฉพาะบุคคลได้
การเรียนร่วม (Integrated Education หรือ Mainstreaming) หมายถึง
การจัดให้เด็กที่มีความต้องการพิเศษเข้าไปเรียนร่วมในโรงเรียนทั่วไป ได้รับโอกาสเข้าเรียนร่วมกิจกรรมต่างๆ
ของโรงเรียนได้อย่างเหมาะสม สอดคล้องกับความต้องการจำเป็นทางร่างกาย อารมณ์ สังคม จิตใจ
สติปัญญา และการเรียนรู้เพื่อพัฒนาศักยภาพของเด็กให้ได้สูงสุด
การจัดการศึกษาพิเศษ (Special
Education) หมายถึง
กระบวนการในการจัดการเกี่ยวกับการพัฒนาผู้เรียนที่มีความต้องการพิเศษให้เป็นผู้มีความมีความรู้ความสามารถ
มีทักษะพื้นฐานที่จำเป็นในการดำรงชีวิต
มีลักษณะนิสัยที่ดี สามารถดำรงชีวิตในสังคมได้อย่างมีความสุข
โดยคณะกรรมการจัดการศึกษาพิเศษร่วมกันวางแผนการจัดการศึกษาสำหรับผู้เรียนลักษณะพิเศษเป็นรายบุคคล
มีการรวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้องเกี่ยวกับผู้เรียนเพื่อใช้ประกอบการวินิจฉัยผู้เรียนเป็นรายบุคคลก่อนที่จะวางแผนการศึกษาเฉพาะบุคคล
โดยมีการกำหนดหลักสูตรกิจกรรมการเรียนรู้
สื่อ และการวัดประเมินผลที่เหมาะสมกับผู้เรียนเป็นรายบุคคล
การจัดการศึกษาสำหรับผู้เรียนที่มีความต้องการพิเศษมีกระบวนการหลักๆ
6 ประการ คือ
1. การรวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวกับความต้องการพิเศษของผู้เรียน
2. การวัด
ประเมิน และวินิจฉัยความต้องการพิเศษ
3. การจัดทำแผนการศึกษาเฉพาะบุคคลและพิจารณาการให้บริการที่เกี่ยวข้อง
4. การจัดการศึกษาตามแผนการศึกษาเฉพาะบุคคล
และการจัดกิจกรรมการเรียนรู้
5. การวัดประเมินผลการจัดการเรียนรู้
6. การส่งต่อ
การจัดการเรียนการสอนในห้อง
inclusive
room
เนื่องจากศักยภาพในการเรียนรู้ของผู้เรียนแต่ละคนมีแตกต่างกัน
อีกทั้งธรรมชาตในการรับรู้
และลีลาการเรียนรู้ของผู้เรียนแต่ละคนก็แตกต่างกันด้วยเช่นกัน
ครูและผู้เกี่ยวข้องกับการจัดการเรียนการสอนสำหรับผู้เรียนในห้องนี้จึงจำเป็นต้องเลือกใช้วิธีการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับเด็กส่วนใหญ่
และอาจต้องพิจารณาเลือกใช้วิธีสอนบางอย่างสำหรับผู้เรียนบางคนที่ไม่สามารถใช้วิธีการเช่นเดียวกับสมาชิกส่วนใหญ่ในห้องได้
สำหรับวิธีการจัดการเรียนรู้ที่จะเสนอแนะในที่นี้ ได้แก่
การสอนแบบเล่นปนเรียน ซึ่งสอดคล้องกับธรรมชาติของผู้เรียนระดับปฐมวัย
ประถมศึกษาและมัธยมศึกษาตอนต้น
วิธีสอนแบบเล่นปนเรียน (Play Way
Method)
การสอนแบบเล่นปนเรียนเป็นวิธีสอนแบบหนึ่งที่ครูสามารถนำมาประยุกต์ใช้ในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้สำหรับผู้เรียนในวิชาต่างๆ
ได้ตามต้องการ Spodek (1985: 181)
ได้เสนอทฤษฎีเกี่ยวกับการเล่นไว้ 4 ทฤษฎี คือ
1. ทฤษฎีการระบายพลังงาน
(Surplus energy theory) หลักการของทฤษฎีนี้บอกว่า
ปริมาณพลังงานที่มีนั้น ร่างกายได้ใช้ไปกับการทำงาน
ส่วนการเล่นจะเกิดขึ้นในเวลาที่ร่างกายมีพลังงานมากเกินความต้องการ
2. ทฤษฎีการพักผ่อน
(Relaxation theory) หลักการนี้เชื่อว่า การเล่นเป็นการทำให้พลังงานที่ใช้ไปคืนกลับมา
หลังการทำงานที่เหนื่อยล้า ร่างกายต้องการกิจกรรมที่ผ่อนคลาย คือการเล่น
3.ทฤษฎีการเตรียมออกกำลัง
(Pre – exercise theory)
การเล่นเป็นพฤติกรรมสัญชาติญาณเป็นการสร้างกิจกรรมในอนาคต
การเล่นเป็นการนึกคิดเตรียมบทบาทในการทำงานในอนาคต
4. ทฤษฎีการสรุป (Recapitulation
theory) การเล่นเป็นการรื้อฟื้นทบทวนย้อน
ทำกิจกรรมที่ผ่านมาของชีวิต
การเล่น เป็นการกระทำที่ก่อให้เกิดการเรียนรู้ได้วิธีหนึ่ง
หากครูเข้าใจธรรมชาติของผู้เรียนและรู้จักสอดแทรกกิจกรรมเพื่อให้เกิดการเรียนรู้ผ่านการเล่นที่ผู้เรียนชอบ
ก็จะช่วยให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ในขณะเดียวกันก็มีความเพลิดเพลินและมีความสุขกับการที่ได้เล่น
บทบาทครูในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้แบบเล่นปนเรียน
การใช้เทคนิคการสอนแบบเล่นปนเรียน
ครูควรดำเนินการในขั้นตอนสำคัญๆ ดังนี้
ขั้นนำเข้าสู่บทเรียน
เริ่มเข้าสู่บทเรียนด้วยเรื่องสนุก
ๆ ทั่วๆไป ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องที่จะเรียนรู้ต่อไป
หรือทบทวนความรู้เดิมที่ได้เรียนไปแล้วในส่วนที่เกี่ยวข้องกับเรื่องที่กำลังจะได้เรียน
ขั้นการเรียนการสอน
1.
เข้าสู่บทเรียนด้วยเนื้อหาตามแบบแผนการสอนโดยใช้กิจกรรมการเล่นในลักษณะที่สอดคล้องกับกิจกรรมการเรียนรู้ตามจุดประสงค์ในแผนการสอน
2.
สังเกตพฤติกรรมผู้เรียนว่ามีโอกาสได้ทำกิจกรรมครบทุกคน
3.
ตรวจสอบผลการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นขณะทำกิจกรรมการเล่นที่กำหนดไว้
4.
ขณะจัดกิจกรรมการเรียนการสอนควรอนุญาตให้ผู้เรียนจะมีปฏิสัมพันธ์ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างอิสระ
ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมกลุ่มหรือกิจกรรมเดี่ยว โดยครูคอยดูและไม่ให้รบกวนผู้อื่น
ขั้นสรุป
บทบาทของการสรุปควรเป็นของผู้เรียน
โดยครูเป็นผู้ตั้งคำถามหรือให้ผู้เรียนสรุปจาก
ผลการทำกิจกรรมตั้งแต่ต้นชั่วโมงจนจบโดยถามเรียงลำดับจากกิจกรรมแรกจนถึงกิจกรรมสุดท้าย
แล้วให้ผู้เรียนช่วยกันสรุปผลการเรียนรู้ของชั่วโมงนั้นโดยภาพรวมอีกครั้ง
ซึ่งคำถามที่ใช้อาจถามว่า “จากที่เราได้เล่นเกม......
นักเรียนคิดว่า...........เป็นอย่างไร”
เป็นต้น
ทิศนา แขมมณี (2532)
ได้อธิบายถึงการเล่นแบบต่างๆที่ส่งเสริมพัฒนาการทางสติปัญญาไว้ดังนี้ ได้เสนอแนะไว้ดังนี้
1. การเล่นแบบสำรวจตรวจค้น (Exploration
play) การเล่นที่ส่งเสริมการรับรู้และประสบการณ์
ซึ่งมีพื้นฐานมาจากความสนใจ สงสัยและความกระตือรือร้น
อยากรู้อยากเห็นที่มีในตัวเด็กซึ่งจะช่วยให้เด็กได้ข้อมูลเพิ่มขึ้นเกี่ยวกับสิ่งที่สำรวจโดยทำให้เกิดการเรียนรู้และพัฒนาการ
ด้านความคิดรวบยอด และจะเป็นพื้นฐานการนำไปสู่การค้นพบการตัดสินใจ
และการแก้ปัญหาที่ไม่เคยเรียนรู้หรือไม่ประสบการณ์มาก่อน
2. การเล่นแบบทดสอบ (Testing play)
การเล่นที่ส่งเสริมพัฒนาการคิดอย่างมีเหตุผลการที่เด็กได้สำรวจและทดลองเพื่อทดสอบ
ช่วยให้เด็กได้พัฒนาความคิดอย่างมีเหตุผล ซึ่งเป็นกระบวนการทางสติปัญญาที่สำคัญมาก
เด็กที่สำรวจสิ่งของต่างๆ มักจะมีการทดสอบคุณสมบัติของสิ่งนั้นๆ เช่น เด็กกดปุ่มพัดลม
ปิด เปิด และนั่งดูใบพักหมุน เป็นต้น
3. การเล่นแบบออกกำลังกาย (Physical
play) การเล่นที่ส่งเสริมความพร้อมในการเรียนรู้เป็นการเล่นในลักษณะการออกกำลังกายช่วยพัฒนากล้ามเนื้อทั้งเล็กและใหญ่
ทั้งยังช่วยพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างกล้ามเนื้อต่างๆ ให้เกิดความพร้อมในการเรียนรู้
ซึ่งแม้ว่า Physical play จะมีบทบาทที่ชัดเจนในการพัฒนาทางกาย
แต่ก็มีส่วนสัมพันธ์ในการพัฒนาทางสติปัญญาด้วย
เพราะความพร้อมทางกายเป็นองค์ประกอบสำคัญที่จะช่วยให้พัฒนาการทางสติปัญญาด้วยเพราะความพร้อมทางกายเป็นองค์ประกอบสำคัญที่จะช่วยให้พัฒนาการทางสติปัญญาเป็นไปอย่างเหมาะสม
4. การเล่นสมมติและการเล่นเลียนแบบ (Dramatic
play and initiation) การเล่นที่ส่งเสริมการใช้ความคิดและจินตนาการ
เป็นการกระตุ้นให้เด็กใช้ความคิดและจินตนาการของตนฝึกการคิดคำนึง การสร้างมโนภาพ
ซึ่งจะทำให้เด็กเข้าใจนามธรรมมากขึ้น รวมทั้งรู้จักปรับตัว เข้ากับผู้อื่นได้
5. การเล่นสร้าง (Construction play) เป็นการเล่นที่เด็กจะนำข้อมูลความรู้ทัศนคติต่างๆจากประสบการณ์มาสัมพันธ์กันในรูปแบบใหม่
อันก่อให้เกิดความคิดและประสบการณ์ใหม่ในด้านสร้างสรรค์
เพื่อให้การเล่นประสบความสำเร็จ การเล่นลักษณะนี้มีค่อนข้างมากในชนบท
วัสดุอุปกรณ์ในการเล่นมักทำจากวัสดุเหลือใช้ หรือวัสดุที่มีอยู่ในธรรมชาติ เช่น
การเล่นร้อยดอกไม้ และนำไปเล่นสมมติซื้อขายดอกไม้
6. การเล่นแบบสัมผัสกระทำ (Manipulative
play) เป็นการเล่นที่ส่งเสริมการสังเกตการณ์คิด
จำแนก
การคิดเปรียบเทียบและการคิดหาความสัมพันธ์ เช่น การนำภาพมาต่อให้เป็นรูปภาพ
เป็นต้น
7. การเล่นที่ส่งเสริมทักษะทางภาษาและความจำ (Verbal
play) ทักษะทางภาษาเป็นดัชนีบ่งชี้พัฒนาการทางสติปัญญาอย่างหนึ่งของเด็ก
การเล่นช่วยฝึกทักษะการฟัง ทำให้เด็กสามารถเข้าใจผู้อื่นได้ง่าย การเล่นช่วยฝึกทักษะการพูด
ทำให้เด็กสามารถสื่อความคิดต่างๆ ของตนให้ผู้อื่นเข้าใจได้ เช่น
การเล่นร้องเพลงและการทำท่าประกอบจังหวะ การเล่นเล่าเรื่อง การเล่นท่องคำคล้องจอง
และทำท่าประกอบเป็นต้น
8. การเล่นเกม (Games)
เป็นการเล่นที่ส่งเสริมการคิดการตัดสินใจ เกมบางอย่างเด็กต้องอาศัยการออกกำลังกาย
การเล่นนับว่ามีส่วนช่วยพัฒนาสติปัญญาของเด็ก ในการเล่นเกมเด็กต้องจดจำกติกา
ข้อตกลง ต้องตัดสินใจและใช้ไหวพริบ นอกจากนี้ยังช่วยพัฒนาด้านร่างกาย สังคม
และสติปัญญา
“””””””””””””””””””””””””””””””””””””””””””””””””””””””””””””””””
รายการอ้างอิง
จรีลักษณ์
รัตนาพันธ์ (2555) “หลักการและแนวคิดการจัดการศึกษาสำหรับผู้เรียนลักษณะพิเศษ”
ใน ประมวลสาระชุดวิชา
22769
การจัดการศึกษาสำหรับผู้เรียนลักษณะพิเศษ หน่วยที่ 1 มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช
นนทบุรี
ผดุง
อารยวิญญู (2542) การเรียนร่วมระหว่างเด็กปกติกับเด็กที่มีความต้องการพิเศษ
สำนักพิมพ์แว่นแก้ว กรุงเทพฯ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น