วันอาทิตย์ที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2557

แนวทางการจัดการเรียนการสอนเกี่ยวกับอาชีพ ในโรงเรียนระดับประถมศึกษา


ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.จรีลักษณ์ รัตนาพันธ์
         การเรียนรู้เกี่ยวกับการอาชีพเป็นสิ่งสำคัญมากในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยเฉพาะสำหรับผู้เรียนที่ไม่มีโอกาสศึกษาต่อ หรือต้องการจะไปประกอบอาชีพหลังจากจบการศึกษาในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานแล้ว  เห็นได้จากมีการบรรจุเนื้อหาวิชานี้ไว้ในหลักสูตรการศึกษาภาคบังคับของไทยมาตั้งแต่เริ่มมีการจัดการศึกษา  สำหรับแนวทางในการจัดประสบการณ์การเรียนรู้การอาชีพ กระทรวงศึกษาธิการได้เสนอแนะไว้ดังนี้
         ในปี 2533 กรมวิชาการ กระทรวงศึกษาธิการ (2533 : 71 – 72) ได้เสนอแนะเกี่ยวกับการจัดประสบกาณ์เรียนรู้กลุ่มการงานและพื้นฐานอาชีพว่า  นอกจากการฝึกปฏิบัติงานเน้นการเกิดทักษะเฉพาะของตนเองแล้วยังต้องให้รู้ถึงกระบวน การทำงานร่วมกับผู้อื่นด้วย ทักษะสำคัญที่ทำให้การทำงานร่วมกับผู้อื่นให้ประสบผลสำเร็จมี 3 ประการ คือ
                             1. มีทักษะจำเป็นในการทำงานกลุ่ม คือ ทักษะในการพูด ฟัง อภิปรายประสาน ความคิดและสรุปผล การเสนอผลงาน การทำหน้าที่หัวหน้าเลขานุการ และสมาชิกของกลุ่ม
                             2. การมีทักษะในกระบวนการทำงาน ได้แก่ การวิเคราะห์งาน การวางแผนในการทำงาน และการปฏิบัติงานตามแผน
                             3. การมีคุณธรรมในการทำงานร่วมกัน ได้แก่ ความรับผิดชอบความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ความไม่เอาเปรียบผู้อื่น เป็นต้น
ต่อมาในปี พ.ศ.2544 ประเทศไทยมีการเปลี่ยนแปลงหลักสูตรการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยจัดการเรียนการสอนเป็น 4 ช่วงชั้น และเปลี่ยนจากการเรียนรู้วิชาบังคับ วิชาบังคับเลือก วิชาเลือกเสรี  มาเป็น 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้ ซึ่งมีสาระการงานอาชีพและเทคโนโลยี รวมอยู่ด้วย กระทรวงศึกษาธิการ (2546 หน้า 8 - 10) ได้เสนอแนะเกี่ยวกับการจัดประสบการณ์เรียนรู้สาระการอาชีพ  ว่าในการเตรียมผู้เรียนเพื่อให้มีความรู้ความสามารถด้านงานอาชีพนั้นจะต้องทำเป็นขั้นตอน เพราะผู้เรียนมีความแตกต่างกันในเรื่อง วัย วุฒิภาวะ พื้นความรู้ความสามารถ และประสบการณ์ในการจัดประสบการณ์การเรียนรู้ควรยึดแนวทาง ดังนี้
          1. จัดการเรียนการสอนให้ยืดหยุ่นทันต่อการเปลี่ยนแปลง โดยให้สอดคล้องกับปัญหาและสภาพแวดล้อม
          2. ให้นักเรียนได้เรียนตามความถนัดของตนเอง
          3. เน้นการเรียนการสอนทั้งภาคปฏิบัติและภาคทฤษฎี เพื่อให้นักเรียนมีประสบการณ์เกี่ยวกับการทำงาน สามารถนำหลักการและวิธีการมาใช้กับการทำงาน
         จึงพอสรุปได้ว่า  แนวทางในการจัดการประสบการณ์เรียนรู้สำหรับผู้เรียนสาระการอาชีพในระดับประถมศึกษานั้น ผู้สอนควรยึดแนวทางดังนี้
1.       จัดให้ผู้เรียนได้เรียนตามความถนัดโดยจัดการเรียนการสอนทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ
2.       ในการจัดประสบการณ์เรียนรู้ภาคปฏิบัติเน้นให้ผู้เรียนเกิดทักษะ ประสบการณ์ โดยให้ผู้เรียนมีโอกาสลงมือปฏิบัติด้วยตนเองเพื่อให้สามารถนำหลักการและวิธีการมาใช้กับการทำงานได้
3.       ส่งเสริมให้ผู้เรียนเป็นผู้มีคุณธรรม จริยธรรมที่จำเป็นต่อการประกอบอาชีพ โดยให้ผู้เรียนได้ฝึกทำงานเป็นกลุ่มร่วมกับผู้อื่น
4.       การกำหนดประสบการณ์เรียนรู้ควรให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ผ่านการทำกิจกรรมที่สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมและมีความเหมาะสมกับผู้เรียน


................................................................................................................................................................

วันเสาร์ที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2557

หลักการของการจัดการเรียนรู้เกี่ยวกับงานอาชีพ ในระดับประถมศึกษา


ในการจัดการเรียนรู้เกี่ยวกับงานอาชีพสำหรับผู้เรียนในระดับประถมศึกษา ครูควรยึดหลักการดังต่อไปนี้
1.       หลักการกำหนดเนื้อหาและจุดประสงค์ของการเรียนรู้  ในการกำหนดเนื้อหาที่จะเรียนควรกำหนดให้สอดคล้องกับหลักสูตรและบริบทของผู้เรียนเป็นสำคัญ  เนื่องจากผู้เรียนจะต้องได้รับการจัดประสบการณ์เรียนรู้ให้มีความรู้ตามตัวชี้วัดของหลักสูตรที่กระทรวงศึกษาธิการกำหนด ในขณะเดียวกันกับที่ครูจะต้องคำนึงถึงการเตรียมผู้เรียนให้รู้จักตนเองภายใต้บริบทของผู้เรียนแต่ละคน  ดังนั้นในการกำหนดเนื้อหาและจุดประสงค์ของการเรียนรู้แต่ละบทเรียนควรกำหนดไว้ตามลำดับ ของขั้นตอนในการการเรียนรู้  โดยกำหนดเนื้อหาให้สอดคล้องกับบริบทของผู้เรียนและกำหนดเป็นจุดประสงค์เชิงพฤติกรรมมีลำดับขั้นตอนของความรู้ให้ต่อเนื่องกันไป ที่สำคัญควรให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมและรับรู้ในการกำหนดจุดประสงค์ของการเรียนรู้ในทุก ๆ บทเรียน
2.       หลักการสร้างแรงจูงใจ การสร้างแรงจูงใจเป็นการกระตุ้นให้ผู้เรียนมีความสนใจอยากเรียนรู้สิงที่ครูกำลังจะนำเสนอหรือจัดประสบการณ์การเรียนรู้  สำหรับการสร้างแรงจูงใจในการเรียนรู้งานอาชีพ ครูควรใช้กรณีตัวอย่างความสำเร็จของบุคคลในการประกอบอาชีพแขนงที่เกี่ยวข้องกับอาชีพที่ครูจะจัดการเรียนรู้  มาใช้เป็นตัวอย่างให้นักเรียนพิจารณาแล้วกระตุ้นด้วยการใช้คำถามตัวอย่างเช่น  นักเรียนอยากทราบวิธีการที่ทำให้บุคคลเหล่านั้นประสบความสำเร็จหรือไม่  หรือสอบถามนักเรียนว่าอยากทราบหรือไม่ว่าการประกอบอาชีพที่ของบุคคลที่ครูยกตัวอย่างนั้นต้องทำอะไรบ้าง  เป็นต้น
3.       หลักการจัดกิจกรรมที่เหมาะกับความพร้อมและบริบทของผู้เรียน  ในการพิจารณาว่าจะจัดประสบการณ์เรียนรู้แบบใดกับนักเรียนที่ครูต้องรับผิดชอบนั้น  หลักสำคัญคือ ต้องคำนึงถึงความพร้อมของผู้เรียน  กล่าวคือ ความพร้อมทางด้านสติปัญญา ร่างกาย อารมณ์ สังคมของผู้เรียน ได้แก่ ความรู้พื้นฐานเดิม ความสามารถในการรับรู้และเรียนรู้  ความสามารถในการทำงานกลุ่มหรือการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น  ความสามารถในการสืบค้นข้อมูล  การใช้เทคโนโลยีสารสนเทศต่าง ๆ เป็นต้น สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นข้อมูลที่ครูต้องคำนึงถึงและนำมาใช้ประกอบการพิจารณาเลือกวิธีการจัดประสบการณ์เรียนรู้แก่ผู้เรียนให้เหมาะสม  ในกรณีผู้เรียนระดับประถมศึกษาที่อยู่ในเมือง มีเครื่องคอมพิวเตอร์และเครือข่ายที่สมบูรณ์ ผู้เรียนมีความสามารถใช้คอมพิวเตอร์ในการสืบค้นข้อมูล ครูอาจจัดประสบการณ์เรียนรู้โดยใช้การสอนบนเครือข่าย ให้ผู้เรียนสืบค้นข้อมูลหรือเรียนรู้ผ่านระบบอินเตอร์เนต  ส่วนผู้เรียนที่อยู่ในชนบทไม่มีความพร้อมในการใช้คอมพิวเตอร์สืบค้นข้อมูลครูควรพิจารณาใช้วิธีการจัดประสบการณ์เรียนรู้อื่น เช่น ใช้การเรียนแบบร่วมมือ แล้วการค้นคว้าในห้องสมุด หรือเก็บข้อมูลจากชาวบ้านที่เป็นภูมิปัญญาท้องถิ่น เป็นต้น
4.       หลักการใช้แหล่งวิทยาการ  ในการจัดประสบการณ์เรียนรู้การงานอาชีพ ครูจะต้องจัดการเรียนรู้ที่ให้ผู้เรียนมีประสบการณ์ทั้งในห้องเรียนและนอกห้องเรียน  กิจกรรมที่จะขาดมิได้ในการจัดประสบการณ์เรียนรู้การงานอาชีพคือ  การเรียนรู้ในสถานประกอบการณ์ ซึ่งครูจะต้องพิจารณาเลือกแหล่งเรียนรู้ที่จะใช้เป็นแหล่งวิทยาการสำหรับผู้เรียนของตนให้เหมาะสม  โดยพิจารณาทั้งบุคคลที่จะเป็นวิทยากรและสภาพสิ่งแวดล้อมที่จะเอื้อให้เกิดการเรียนรู้แก่ผู้เรียนให้มากที่สุด  แหล่งวิทยาการที่ครูควรพิจารณาเป็นอันดับแรก คือ แหล่งวิทยาการที่อยู่ในท้องถิ่น ในบริเวณใกล้กับโรงเรียน เช่น บริเวณโรงเรียน ชุมชน  ร้านค้า  สถานีอนามัย  สถานีตำรวจ โรงงานอุตสาหกรรม แหล่งเกษตรกรรม เช่น สวนหรือไร่นา ที่อยู่ใกล้โรงเรียน เป็นต้น
          จึงสรุปได้ว่าในการจัดประสบการณ์การเรียนรู้การงานอาชีพ ในระดับประถมศึกษานั้น ครูควรยึด
หลักการสำคัญ 4 ประการ คือ หลักการกำหนดเนื้อหาและจุดประสงค์การเรียนรู้  หลักการสร้างแรงจูงใจ  หลักจัดกิจกรรมที่เหมาะกับความพร้อมและบริบทของผู้เรียน  และหลักการใช้แหล่งวิทยาการ ทั้งนี้ควรคำนึงถึงความเป็นไปได้ในการก่อให้เกิดการเรียนรู้แก่ผู้เรียนเป็นสำคัญ