วันอาทิตย์ที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2557

แนวทางการจัดการเรียนการสอนเกี่ยวกับอาชีพ ในโรงเรียนระดับประถมศึกษา


ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.จรีลักษณ์ รัตนาพันธ์
         การเรียนรู้เกี่ยวกับการอาชีพเป็นสิ่งสำคัญมากในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยเฉพาะสำหรับผู้เรียนที่ไม่มีโอกาสศึกษาต่อ หรือต้องการจะไปประกอบอาชีพหลังจากจบการศึกษาในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานแล้ว  เห็นได้จากมีการบรรจุเนื้อหาวิชานี้ไว้ในหลักสูตรการศึกษาภาคบังคับของไทยมาตั้งแต่เริ่มมีการจัดการศึกษา  สำหรับแนวทางในการจัดประสบการณ์การเรียนรู้การอาชีพ กระทรวงศึกษาธิการได้เสนอแนะไว้ดังนี้
         ในปี 2533 กรมวิชาการ กระทรวงศึกษาธิการ (2533 : 71 – 72) ได้เสนอแนะเกี่ยวกับการจัดประสบกาณ์เรียนรู้กลุ่มการงานและพื้นฐานอาชีพว่า  นอกจากการฝึกปฏิบัติงานเน้นการเกิดทักษะเฉพาะของตนเองแล้วยังต้องให้รู้ถึงกระบวน การทำงานร่วมกับผู้อื่นด้วย ทักษะสำคัญที่ทำให้การทำงานร่วมกับผู้อื่นให้ประสบผลสำเร็จมี 3 ประการ คือ
                             1. มีทักษะจำเป็นในการทำงานกลุ่ม คือ ทักษะในการพูด ฟัง อภิปรายประสาน ความคิดและสรุปผล การเสนอผลงาน การทำหน้าที่หัวหน้าเลขานุการ และสมาชิกของกลุ่ม
                             2. การมีทักษะในกระบวนการทำงาน ได้แก่ การวิเคราะห์งาน การวางแผนในการทำงาน และการปฏิบัติงานตามแผน
                             3. การมีคุณธรรมในการทำงานร่วมกัน ได้แก่ ความรับผิดชอบความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ความไม่เอาเปรียบผู้อื่น เป็นต้น
ต่อมาในปี พ.ศ.2544 ประเทศไทยมีการเปลี่ยนแปลงหลักสูตรการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยจัดการเรียนการสอนเป็น 4 ช่วงชั้น และเปลี่ยนจากการเรียนรู้วิชาบังคับ วิชาบังคับเลือก วิชาเลือกเสรี  มาเป็น 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้ ซึ่งมีสาระการงานอาชีพและเทคโนโลยี รวมอยู่ด้วย กระทรวงศึกษาธิการ (2546 หน้า 8 - 10) ได้เสนอแนะเกี่ยวกับการจัดประสบการณ์เรียนรู้สาระการอาชีพ  ว่าในการเตรียมผู้เรียนเพื่อให้มีความรู้ความสามารถด้านงานอาชีพนั้นจะต้องทำเป็นขั้นตอน เพราะผู้เรียนมีความแตกต่างกันในเรื่อง วัย วุฒิภาวะ พื้นความรู้ความสามารถ และประสบการณ์ในการจัดประสบการณ์การเรียนรู้ควรยึดแนวทาง ดังนี้
          1. จัดการเรียนการสอนให้ยืดหยุ่นทันต่อการเปลี่ยนแปลง โดยให้สอดคล้องกับปัญหาและสภาพแวดล้อม
          2. ให้นักเรียนได้เรียนตามความถนัดของตนเอง
          3. เน้นการเรียนการสอนทั้งภาคปฏิบัติและภาคทฤษฎี เพื่อให้นักเรียนมีประสบการณ์เกี่ยวกับการทำงาน สามารถนำหลักการและวิธีการมาใช้กับการทำงาน
         จึงพอสรุปได้ว่า  แนวทางในการจัดการประสบการณ์เรียนรู้สำหรับผู้เรียนสาระการอาชีพในระดับประถมศึกษานั้น ผู้สอนควรยึดแนวทางดังนี้
1.       จัดให้ผู้เรียนได้เรียนตามความถนัดโดยจัดการเรียนการสอนทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ
2.       ในการจัดประสบการณ์เรียนรู้ภาคปฏิบัติเน้นให้ผู้เรียนเกิดทักษะ ประสบการณ์ โดยให้ผู้เรียนมีโอกาสลงมือปฏิบัติด้วยตนเองเพื่อให้สามารถนำหลักการและวิธีการมาใช้กับการทำงานได้
3.       ส่งเสริมให้ผู้เรียนเป็นผู้มีคุณธรรม จริยธรรมที่จำเป็นต่อการประกอบอาชีพ โดยให้ผู้เรียนได้ฝึกทำงานเป็นกลุ่มร่วมกับผู้อื่น
4.       การกำหนดประสบการณ์เรียนรู้ควรให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ผ่านการทำกิจกรรมที่สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมและมีความเหมาะสมกับผู้เรียน


................................................................................................................................................................

วันเสาร์ที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2557

หลักการของการจัดการเรียนรู้เกี่ยวกับงานอาชีพ ในระดับประถมศึกษา


ในการจัดการเรียนรู้เกี่ยวกับงานอาชีพสำหรับผู้เรียนในระดับประถมศึกษา ครูควรยึดหลักการดังต่อไปนี้
1.       หลักการกำหนดเนื้อหาและจุดประสงค์ของการเรียนรู้  ในการกำหนดเนื้อหาที่จะเรียนควรกำหนดให้สอดคล้องกับหลักสูตรและบริบทของผู้เรียนเป็นสำคัญ  เนื่องจากผู้เรียนจะต้องได้รับการจัดประสบการณ์เรียนรู้ให้มีความรู้ตามตัวชี้วัดของหลักสูตรที่กระทรวงศึกษาธิการกำหนด ในขณะเดียวกันกับที่ครูจะต้องคำนึงถึงการเตรียมผู้เรียนให้รู้จักตนเองภายใต้บริบทของผู้เรียนแต่ละคน  ดังนั้นในการกำหนดเนื้อหาและจุดประสงค์ของการเรียนรู้แต่ละบทเรียนควรกำหนดไว้ตามลำดับ ของขั้นตอนในการการเรียนรู้  โดยกำหนดเนื้อหาให้สอดคล้องกับบริบทของผู้เรียนและกำหนดเป็นจุดประสงค์เชิงพฤติกรรมมีลำดับขั้นตอนของความรู้ให้ต่อเนื่องกันไป ที่สำคัญควรให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมและรับรู้ในการกำหนดจุดประสงค์ของการเรียนรู้ในทุก ๆ บทเรียน
2.       หลักการสร้างแรงจูงใจ การสร้างแรงจูงใจเป็นการกระตุ้นให้ผู้เรียนมีความสนใจอยากเรียนรู้สิงที่ครูกำลังจะนำเสนอหรือจัดประสบการณ์การเรียนรู้  สำหรับการสร้างแรงจูงใจในการเรียนรู้งานอาชีพ ครูควรใช้กรณีตัวอย่างความสำเร็จของบุคคลในการประกอบอาชีพแขนงที่เกี่ยวข้องกับอาชีพที่ครูจะจัดการเรียนรู้  มาใช้เป็นตัวอย่างให้นักเรียนพิจารณาแล้วกระตุ้นด้วยการใช้คำถามตัวอย่างเช่น  นักเรียนอยากทราบวิธีการที่ทำให้บุคคลเหล่านั้นประสบความสำเร็จหรือไม่  หรือสอบถามนักเรียนว่าอยากทราบหรือไม่ว่าการประกอบอาชีพที่ของบุคคลที่ครูยกตัวอย่างนั้นต้องทำอะไรบ้าง  เป็นต้น
3.       หลักการจัดกิจกรรมที่เหมาะกับความพร้อมและบริบทของผู้เรียน  ในการพิจารณาว่าจะจัดประสบการณ์เรียนรู้แบบใดกับนักเรียนที่ครูต้องรับผิดชอบนั้น  หลักสำคัญคือ ต้องคำนึงถึงความพร้อมของผู้เรียน  กล่าวคือ ความพร้อมทางด้านสติปัญญา ร่างกาย อารมณ์ สังคมของผู้เรียน ได้แก่ ความรู้พื้นฐานเดิม ความสามารถในการรับรู้และเรียนรู้  ความสามารถในการทำงานกลุ่มหรือการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น  ความสามารถในการสืบค้นข้อมูล  การใช้เทคโนโลยีสารสนเทศต่าง ๆ เป็นต้น สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นข้อมูลที่ครูต้องคำนึงถึงและนำมาใช้ประกอบการพิจารณาเลือกวิธีการจัดประสบการณ์เรียนรู้แก่ผู้เรียนให้เหมาะสม  ในกรณีผู้เรียนระดับประถมศึกษาที่อยู่ในเมือง มีเครื่องคอมพิวเตอร์และเครือข่ายที่สมบูรณ์ ผู้เรียนมีความสามารถใช้คอมพิวเตอร์ในการสืบค้นข้อมูล ครูอาจจัดประสบการณ์เรียนรู้โดยใช้การสอนบนเครือข่าย ให้ผู้เรียนสืบค้นข้อมูลหรือเรียนรู้ผ่านระบบอินเตอร์เนต  ส่วนผู้เรียนที่อยู่ในชนบทไม่มีความพร้อมในการใช้คอมพิวเตอร์สืบค้นข้อมูลครูควรพิจารณาใช้วิธีการจัดประสบการณ์เรียนรู้อื่น เช่น ใช้การเรียนแบบร่วมมือ แล้วการค้นคว้าในห้องสมุด หรือเก็บข้อมูลจากชาวบ้านที่เป็นภูมิปัญญาท้องถิ่น เป็นต้น
4.       หลักการใช้แหล่งวิทยาการ  ในการจัดประสบการณ์เรียนรู้การงานอาชีพ ครูจะต้องจัดการเรียนรู้ที่ให้ผู้เรียนมีประสบการณ์ทั้งในห้องเรียนและนอกห้องเรียน  กิจกรรมที่จะขาดมิได้ในการจัดประสบการณ์เรียนรู้การงานอาชีพคือ  การเรียนรู้ในสถานประกอบการณ์ ซึ่งครูจะต้องพิจารณาเลือกแหล่งเรียนรู้ที่จะใช้เป็นแหล่งวิทยาการสำหรับผู้เรียนของตนให้เหมาะสม  โดยพิจารณาทั้งบุคคลที่จะเป็นวิทยากรและสภาพสิ่งแวดล้อมที่จะเอื้อให้เกิดการเรียนรู้แก่ผู้เรียนให้มากที่สุด  แหล่งวิทยาการที่ครูควรพิจารณาเป็นอันดับแรก คือ แหล่งวิทยาการที่อยู่ในท้องถิ่น ในบริเวณใกล้กับโรงเรียน เช่น บริเวณโรงเรียน ชุมชน  ร้านค้า  สถานีอนามัย  สถานีตำรวจ โรงงานอุตสาหกรรม แหล่งเกษตรกรรม เช่น สวนหรือไร่นา ที่อยู่ใกล้โรงเรียน เป็นต้น
          จึงสรุปได้ว่าในการจัดประสบการณ์การเรียนรู้การงานอาชีพ ในระดับประถมศึกษานั้น ครูควรยึด
หลักการสำคัญ 4 ประการ คือ หลักการกำหนดเนื้อหาและจุดประสงค์การเรียนรู้  หลักการสร้างแรงจูงใจ  หลักจัดกิจกรรมที่เหมาะกับความพร้อมและบริบทของผู้เรียน  และหลักการใช้แหล่งวิทยาการ ทั้งนี้ควรคำนึงถึงความเป็นไปได้ในการก่อให้เกิดการเรียนรู้แก่ผู้เรียนเป็นสำคัญ

วันอาทิตย์ที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2557

ความสำคัญของการจัดการเรียนรู้ด้านอาชีพ


                   ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.จรีลักษณ์ รัตนาพันธ์

การมีอาชีพ เป็นสิ่งที่สำคัญในวิถีชีวิตและการดำรงชีพในปัจจุบัน เพราะอาชีพเป็นการสร้างรายได้เพื่อเลี้ยงชีพตนเองและครอบครัว อาชีพก่อให้เกิดผลผลิตและการบริการ ซึ่งสนองตอบต่อความต้องการของผู้บริโภคและที่สำคัญคือ อาชีพมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศชาติความสำคัญของอาชีพจึงเป็นฟันเฟืองสำคัญในการพัฒนาคุณภาพชีวิต เศรษฐกิจชุมชนส่งผลถึงความเจริญก้าวหน้าของประเทศชาติ
การจัดการเรียนรู้เกี่ยวกับ “อาชีพ” จึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งโดยเฉพาะในการจัดการเรียนรู้ในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ซึ่งเป็นช่วงเวลาในการเตรียมความพร้อมของผู้เรียนที่จะเลือกการประกอบอาชีพของตนเองต่อไปในอนาคต ในที่นี้จะกล่าวถึงความสำคัญของการจัดการเรียนรู้การอาชีพใน 2 ประเด็น คือ  ความสำคัญของการจัดประสบการณ์การเรียนรู้การอาชีพในระดับบุคคล  และความสำคัญของการจัดประสบการณ์การเรียนรู้การอาชีพในระดับครอบครัวและชุมชน  ซึ่งจะเสนอไว้ตามลำดับดังนี้
           1. ความสำคัญของการจัดประสบการณ์การเรียนรู้สาระการอาชีพในระดับบุคคล  ประกอบด้วย
   1.1   ความสำคัญของการจัดการเรียนรู้การอาชีพที่มีต่อผู้เรียน การจัดการเรียนรู้การ
อาชีพมีความสำคัญต่อผู้เรียน ดังนี้
1)      ทำให้ผู้เรียนมีความรู้เกี่ยวกับความหมายและความสำคัญของอาชีพ  ทำให้
ผู้เรียนรู้จักอาชีพต่าง ๆ ที่มีอยู่โดยเฉพาะอาชีพในชุมชน
2)      ทำให้ผู้เรียนรู้จักตนเองในด้านของความสามารถและความสนใจในการประกอบ
อาชีพในอนาคต
3)      ทำให้ผู้เรียนมีทักษะพื้นฐานในการทำงาน ได้แก่ มีทักษะในการทำงาน มีทักษะ
ในการจัดการ การแก้ปัญหา การทำงานร่วมกับผู้อื่นและมีทักษะในการแสวงหาความรู้ 
4)      ทำให้ผู้เรียนเป็นผู้มีคุณธรรมที่จำเป็นต้องใช้ในการประกอบอาชีพ ได้แก่         
มีความซื่อสัตย์ มีความขยันอดทน มีความยุติธรรม และมีความรับผิดชอบ
                  1.2 ความสำคัญของการจัดการเรียนรู้สาระการอาชีพที่มีต่อผู้ปกครอง  การจัดการเรียนรู้การ
อาชีพมีความสำคัญต่อผู้ปกครองนักเรียน ดังนี้
1)      ทำให้ผู้ปกครองได้ทราบถึงพัฒนาการด้านความสามารถในการทำงาน และความสนใจในการประกอบอาชีพในอนาคตของผู้บุตรหลานที่อยู่ในปกครอง ซึ่งเป็นข้อมูลสำคัญที่จะนำไปใช้ในการตัดสินใจวางแผนอนาคตทางการศึกษาและการประกอบอาชีพของบุตรหลานได้อย่างดี
2)      ผู้ปกครองได้รับความรู้เกี่ยวกับเรื่องงานอาชีพโดยทางอ้อมจากการมีส่วนร่วมในการช่วยเหลือให้เกิดการเรียนรู้ และประเมินผลการเรียนรู้ของบุตรหลานตามที่โรงเรียนกำหนด เช่น การประเมินการปฏิบัติงานและประเมินชิ้นงานของนักเรียน การรายงานพฤติกรรมการปฏิบัติตนในช่วงที่นักเรียนอยู่ที่บ้าน เป็นต้น
3)      การจัดการเรียนรู้การอาชีพของสถานศึกษาส่วนใหญ่จะมีการขยายผลการจัดกิจกรรมสู่ผู้ปกครองและชุมชน ได้แก่ การจัดการฝึกอาชีพในวันหยุดเสาร์อาทิตย์ เป็นการให้บริการแก่ชุมชนที่ทำให้ผู้ปกครองและบุคคลต่างๆที่อยู่ในชุมชนมีความรู้และทักษะในการประกอบอาชีพและยังสามารถนำไปใช้ในการประกอบอาชีพก่อให้เกิดรายได้เสริม ซึ่งจะส่งผลให้สถานภาพทางเศรษฐกิจของคนในชุมชนดีขึ้นได้อีกทางหนึ่ง
4)      การจัดการเรียนรู้การอาชีพที่สถานศึกษาจัดขึ้นนั้น จะมีการให้ผู้เรียนได้เยี่ยมชมหรือสังเกตการปฏิบัติจากผู้รู้ผู้ชำนาญในแต่ละสาขาอาชีพที่กำหนดไว้ในหลักสูตร การจัดประสบการณ์ในลักษณะนี้นิยมเชิญภูมิปัญญาท้องถิ่นที่อยู่ในชุมชนเป็นวิทยากรพิเศษให้ความรู้แก่ผู้เรียนซึ่งอาจเป็นผู้ปกครองนักเรียนหรือบุคคลในชุมชน  การจัดประสบการณ์เรียนรู้ลักษณะนี้จะก่อให้เกิดสัมพันธภาพอันดีระหว่างผู้ปกครองกับครูและผู้บริหารโรงเรียน
2. ความสำคัญของการจัดการเรียนรู้การอาชีพในระดับครอบครัวและชุมชน 
การจัดประสบการณ์การเรียนรู้สาระการอาชีพ ระดับประถมศึกษามีความสำคัญต่อครอบครัวและชุมชน ดังนี้
1)      ช่วยส่งเสริมสัมพันธภาพที่ดีระหว่างสมาชิกในครอบครัว  การที่สถานศึกษาจัดให้ผู้เรียนทำกิจกรรมการเรียนรู้ด้านอาชีพซึ่งจะต้องมีการจัดเตรียมอุปกรณ์และฝึกฝนปฏิบัติกิจกรรม ตลอดจนลงมือปฏิบัติจริงซึ่งต้องใช้ระยะเวลาในการปฏิบัติงานนาน  งานบางอย่างต้องทำที่บ้าน  เช่น อาชีพด้านการถักทอ การทำเครื่องประดับ ผู้ปกครองอาจมีส่วนร่วมในการฝึกหัดให้บุตรหลานของตนที่บ้าน การได้อยู่ใกล้ชิดกันจะทำให้เกิดสัมพันธภาพที่ดีระหว่างพ่อแม่ ผู้ปกครองและนักเรียนให้มีมากยิ่งขึ้นได้
2)      ช่วยให้บุคคลในชุมชนมีความรู้ที่จะนำไปใช้ในการประกอบอาชีพ  ซึ่งก่อเกิดรายได้ที่จะนำไปใช้ในการดำรงชีวิตต่อไป บุคคลในชุมชนสามารถพึ่งพาตนเองได้อันเป็นผลให้เกิดมั่นคงในทางเศรษฐกิจในชุมชน
3) ก่อให้เกิดความเข้มแข็งทางสังคมระหว่างบุคคลที่อาศัยอยู่ในชุมชน การที่บุคคลมา
    ร่วมรับความรู้และฝึกประสบการณ์ด้านอาชีพร่วมกัน  จะก่อให้เกิดความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน                มีความรักความสามัคคีกันระหว่างบุคคลในชุมชน  

วันเสาร์ที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2557

ทักษะทางสังคม

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.จรีลักษณ์ รัตนาพันธ์
สาขาวิชาศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช

ทักษะทางสังคมเป็นทักษะหนึ่งที่สำคัญและจำเป็นทั้งในระดับบุคคล ครอบครัว ชุมชนและสังคม เป็นทักษะที่จำเป็นสำหรับบุคคลทุกเพศ ทุกวัย เพื่อใช้ในการปฏิสัมพันธ์ ติดต่อสื่อสาร และการอยู่ร่วมกันของบุคคลในสังคม  บุคคลที่มีทักษะทางสังคมดีจะสามารถอยู่ร่วมกับบุคคลในครอบครัว ชุมชน และสังคมได้อย่างมีความสุข ทักษะสังคมเป็นทักษะที่จำเป็นต้องได้รับการฝึกฝนอย่างเป็นระบบเช่นเดียวกับทักษะอื่น ๆ
         
ความหมาย
          ทักษะทางสังคม  มาจากคำสองคำ คือ คำว่า ทักษะ  กับ คำว่า สังคม  เพื่อความเข้าใจที่ชัดเจนยิ่งขึ้นจะขออธิบายพอสังเขปดังนี้
          ทักษะ  หมายถึง ความสามารถในการทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งจนชำนาญ
          สังคม เป็นคำที่มาจากภาษาบาลี ประกอบด้วยคำ “สัง” แปลว่า ด้วยกัน พร้อมกัน  ส่วนคำว่า “คม”  แปลว่า ดำเนินไป  เมื่อนำมารวมกันจึงสามารถแปลได้ว่า ไปด้วยกัน ไปพร้อมกัน (จำนงค์ อดิวัฒนสิทธิ์ 2545: 59)
          สังคม หมายถึง คนจำนวนหนึ่งที่มีความสัมพันธ์ต่อเนื่องกันตามระเบียบกฎเกณฑ์ โดยมีวัตถุประสงค์ร่วมกัน (ราชบัณฑิตยสถาน 2524: 371)
จึงอาจสรุปได้ว่า ทักษะทางสังคม  หมายถึง ความสามารถของบุคคลในการปฏิบัติตนเพื่อให้สามารถอยู่ร่วมกับบุคคลอื่น หรือทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งร่วมกับบุคคลอื่นตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้ ภายใต้ระเบียบกฏเกณฑ์ของสังคมนั้นๆ ได้อย่างเหมาะสม
ทักษะทางสังคม เป็นความสามารถในการรู้จัก เข้าใจ สร้างสรรค์และประสาน ความรู้สึก ความต้องการ ความสัมพันธ์ ตลอดจนแก้ปัญหาและจัดการกับการปฏิสัมพันธ์ของบุคคลที่มีต่อกัน ทักษะทางสังคมประกอบด้วยกลุ่มของทักษะต่าง ๆ ที่ใช้ในการปฏิสัมพันธ์และการสื่อสารระหว่างกันของบุคคลในสังคมได้แก่ ทักษะการสื่อสาร การพูด การฟัง การทำงานร่วมกัน ความสามารถในการเข้าใจถึงสถานการณ์ที่หลากหลาย กฎกติกาต่าง ๆ ในสังคม โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความสัมพันธ์ในทางบวกให้เกิดขึ้น

ทฤษฎีพัฒนาการทางสังคม
อีริคสัน (Erik Erikson ) นักจิตวิทยาอธิบายเกี่ยวกับการพัฒนาทักษะทางสังคมว่ามีความเกี่ยวข้องกับการพัฒนาบุคลิกภาพ บุคคลจะมีการพัฒนาบุคลิภภาพตลอดชีวิต และเป็นสิ่งสำคัญที่มีอิทธิพลต่อการมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคม หรือการมีสัมพันธ์กับบุคคลอื่น ๆ ในสังคมนั่นเอง อิริคสันได้จำแนกพัฒนาการทางบุคลิกภาพของบุคคลไว้  8 ขั้น คือ
          ขั้นที่ 1  ความรู้สึกไว้วางใจและความไม่ไว้วางใจ ( Trust VS Mistrust )  จะเริ่มขึ้นระหว่างช่วงอายุแรกเกิดถึง  1  ขวบ  ถ้าเด็กได้รับอาหาร ความรัก ความเอาใจใส่และความใกล้ชิดจากมารดาหรือพี่เลี้ยงเป็นอย่างดี  เด็กจะเกิดความรู้สึกไว้วางใจและความอบอุ่นมั่นคง  ในทางตรงข้ามหากถูกทอดทิ้งและไม่ได้ความรักจะเกิดความรู้สึกไม่ไว้วางใจใครในวัยเด็ก   
          ขั้นที่ 2   ความเป็นตัวของตัวเองและความสงสัย ( Autonomy  VS Doubt)   ความรู้สึกนี้จะเกิดในช่วงปีที่ 2 เด็กวัยนี้จะแสดงออกให้เห็นว่าตนเองมีความสามารถ  มีความเป็นตัวของตัวเอง  ในทางกลับกันหากเด็กไม่ได้รับความสำเร็จหรือความพอใจก็จะเกิดความอายและกลัวการแสดงออก   
          ขั้นที่ 3  การริเริ่มและความรู้สึกผิด ( Initiative VS Guilt ) เป็นช่วงอายุ 3 ถึง 5 ปี เด็กวัยนี้จะเลียนแบบสมาชิกในครอบครัว  ชอบทดลองทำสิ่งใหม่ๆ  ถ้าทดลองแล้วผิดพลาดจะเกิดความขยาดและหวาดกลัว  เป็นวัยที่มีปฏิสัมพันธ์กับสมาชิกในครอบครัวและเด็กๆ  นอกบ้าน 
          ขั้นที่ 4  ความรู้สึกรับผิดชอบและความรู้สึกปมด้อย ( Industry VS Interiority ) เกิดขึ้นในช่วงอายุ 6- 11 ปี  เด็กวัยนี้จะเริ่มเกี่ยวข้องกับบุคคลนอกบ้านมากขึ้น เป็นช่วงที่จะขยันเรียน  ขยันอ่านหนังสือประเภทต่างๆ  พูดคุยและอวดโชว์ความเด่น และชอบแสดงความสามารถของตนเพื่อให้เพื่อนยอมรับ  ถ้าทำไม่ได้ก็จะผิดหวังและรู้สึกเป็นปมด้อย  
          ขั้นที่ 5  บุคลิกภาพของตน และความไม่เข้าใจตนเอง (Identity VS Identity Diffusion )  อยู่ในช่วงอายุ  13-18  ปี  เป็นระยะเริ่มเข้าสู่วัยรุ่นซึ่งต้องการสร้างเอกลักษณ์หรือบุคคลิกภาพของตน  โดยเลียนแบบจากเพื่อนๆ  หรือผู้ใกล้ชิด  ถ้ายังสร้างเอกลักษณ์ของตนไม่ได้จะเกิดความว้าวุ่นและหมดหวัง  จึงเป็นช่วงเวลาสำคัญที่ผู้อยู่ใกล้ชิดต้องแสดงแบบอย่างที่ดีเพื่อให้เด็กสร้างบุคลิกภาพที่เหมาะสม
          ขั้นที่ 6  ความเป็นผู้นำ และความเปล่าเปลี่ยว  ( Intimacy VS Isolation ) ช่วงอายุ  19-40 ปี  เป็นวัยที่ก้าวสู่ความเป็นผู้ใหญ่มีความต้องการเป็นผู้นำ  ต้องการติดต่อและสัมพันธ์กับเพื่อนต่างเพศ  จนเป็นเพื่อนสนิทและหรือเป็นคู่ชีวิต  หากไม่สามารถทำได้ตามที่คาดหวังก็จะแยกตนเองออกจากสังคมหรืออยู่ตามลำพัง  ในวัยนี้จะมีเพื่อนรัก  เพื่อนร่วมงาน  และเพื่อนสนิทเป็นจำนวนมาก               
          ขั้นที่ 7  ความเสียสละ และความเห็นแก่ตัว  ( Generativity VS Self Absorbtion ) เป็นช่วงวัยกลางคนเป็นวัยที่มีความรับผิดชอบ มีครอบครัว มีการให้กำเนิดบุตร  ให้การอบรมเลี้ยงดู  ให้การศึกษา  ให้ความรักและความเอาใจใส่เพื่อสร้างคุณภาพชีวิตให้แก่บุตรหลานและสมาชิกในครอบครัว                 
ขั้นที่ 8   ความมั่นคงของชีวิต และความสิ้นหวัง ( Integrity VS Despair ) อยู่
ในช่วงอายุ 61 ปีขึ้นไป เป็นวัยที่ต้องการความมั่นคงสมบูรณ์ในชีวิต  จะภาคภูมิใจในความสำเร็จแห่งชีวิตและผลงานของตน  ถ้าผิดหวังจะเกิดความรู้สึกล้มเหลวในชีวิต  

คุณสมบัติของผู้มีทักษะทางสังคมที่ดี
          ผู้มีทักษะทางสังคมที่ดี ควรมีคุณสมบัติ ดังนี้
1.       มีคุณลักษณะส่วนบุคคลที่ดี  คุณลักษณะส่วนบุคคลเป็นสิ่งสำคัญที่จะส่งผลให้การพัฒนาทักษะ
ทางสังคมของบุคลลสามารถดำเนินการไปได้จนประสบผลตามที่กำหนดไว้  คุณลักษณะส่วนบุคคลที่ควรได้รับการส่งเสริมให้มีขึ้นได้แก่ ความมุ่งมั่นตั้งใจ  ความมีระเบียบวินัย ความรับผิดชอบ ความขยันหมั่นเพียรและอดทน  ความซื่อสัตย์ 
2.       มีทักษะการสื่อสารดี มีหลายทักษะ แต่ที่จำเป็นเบื้องต้นสำหรับผู้เรียนต้องการพัฒนาทักษะทาง
สังคม ได้แก่ การพัฒนาทักษะการฟังและการพูด ทักษะการสังเกตและการตีความภาษาท่าทาง เป็นต้น
3.       มีทักษะการจัดการกับตนเองดี ได้แก่ การรู้จักและยอมรับตนเอง การวางแผนการทำงาน การ
ควบคุมตนเอง เป็นต้น
4.       มีการตระหนักรู้ทางสังคม  เป็นความสามารถของบุคคลในการแสดงออกถึงการรับรู้เกี่ยวกับ
ตนเองว่าเป็นส่วนหนึ่งของสังคมและสิ่งแวดล้อม การแสดงพฤติกรรมอย่างเหมาะสมในการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างตนเองกับสังคมและสิ่งแวดล้อม เพื่อให้สามารถอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข คุณสมบัติข้อนี้ได้แก่ การเป็นผู้รู้จักกาลเทศะ และมีมารยาททางสังคมที่เหมาะสม เป็นต้น การจัดกิจกรรมเพื่อให้เกิดความตระหนักรู้ทางสังคมควรเป็นเรื่องจริงที่เกี่ยวข้องกับผู้ทำกิจกรรม โดยเริ่มจากเรื่องที่อยู่ใกล้ตัวไปสู่เรื่องที่ไกลตัวออกไป ได้แก่ การเรียนรู้ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลในบ้าน ความสัมพันธ์กับโรงเรียน ความสัมพันธ์กับชุมชนและสิ่งแวดล้อม
พ่อแม่กับการพัฒนาทักษะทางสังคมของบุตรหลาน
ครอบครัวเป็นสังคมแรกที่ลูกจะได้ฝึกทักษะทางสังคม ดังนั้นเพื่อให้ลูกได้เรียนรู้การใช้ชีวิตในสังคมต่อไปได้อย่างเหมาะสม จึงควรมีการทำกิจกรรมร่วมกับคนในครอบครัว เพื่อส่งเสริมทักษะเพื่อการอยู่ร่วมกันในครอบครัว และพัฒนาทักษะทางสังคมเพื่อใช้กับเพื่อนและครู ดังนี้
1.       การพัฒนาทักษะเพื่อการอยู่ร่วมกันในครอบครัว
1.1   กำหนดข้อตกลงของการปฏิบัติตนตลอดจนบทบาทหน้าที่ของสมาชิกในครอบครัว การ
อยู่ร่วมกันในครอบครัวแม้จะมีสมาชิกจำนวนไม่มาก ก็ควรมีการกำหนดข้อตกลง หรือระเบียบซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่จำเป็นต้องมีเพื่อให้การฝึกทักษะทางสังคมของลูกเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ข้อตกลง หรือระเบียบของบ้านเปรียบเสมือนกฏระเบียบของสังคม ดังนั้นก่อนทำการฝึกทักษะจึงควรร่วมกันสร้างข้อตกลงของบ้าน โดยพูดคุยแล้วกำหนดเป็นข้อควรปฏิบัติ เช่น เวลาการรับประทานอาหาร  การใช้และจัดเก็บของ การปิดเปิดน้ำไฟและอุปกรณ์เครื่องใช้ในบ้าน  เป็นต้น
1.2   กำหนดกิจกรรมที่จะทำร่วมกัน เช่น การรดน้ำต้นไม้ การทำความสะอาดบ้าน การ
ประกอบอาหารหรือช่วยจัดโต๊ะอาหาร อ่านหนังสือหรือเล่นกีฬาร่วมกัน 
1.3   ชวนลูกหรือบุตรหลานมาปฏิบัติกิจกรรมร่วมกันตามที่กำหนดไว้ โดยหมั่นพูดคุยและ
แสดงความรักความไว้วางใจให้บุตรหลานได้รับรู้อยู่เสมอ โดยการใช้ภาษาท่าทาง เช่น การจับมือ การกอด การยิ้มให้ การร่วมกันทำกิจกรรมกับบุคคลในครอบครัวจะช่วยให้ลูกมีความสุข มีความมั่นใจที่จะแสดงออกกับบุคคลอื่นๆต่อไป
1.4   พ่อแม่ควรฝึกให้ลูกรู้จักการรอคอย  การแบ่งปัน การขอบคุณ การขอโทษและให้อภัย ใน
ระหว่างการทำกิจกรรม เช่น เมื่อช่วยกันรดน้ำต้นไม้ ฝึกให้ลูกรอเมื่อต้องการรองน้ำใส่กระบอกรดน้ำ  ขอบคุณเมื่อได้รับการช่วยเหลือหรือได้รับของจากผู้อื่น  ขอโทษเมื่อทำน้ำเปียกรองเท้าหรือเสื้อผ้าของแม่  สิ่งเหล่านี้ผู้ฝึกคือพ่อแม่ผู้ปกครองต้องแสดงให้ลูกเห็นเป็นตัวอย่างก่อนเพื่อให้ลูกรับรู้และบอกให้ลูกปฏิบัติเมื่อเกิดเหตุการณ์เหล่านั้นขึ้น การฝึกให้พูดและทำบ่อยๆ จะช่วยให้ลูกซึมซับสิ่งที่ได้รับการฝึกนั้นและปฏิบัติได้เองโดยไม่ต้องมีการชี้แนะ
                   1.5 ควรมีการบอกกล่าวข้อดีของการทำกิจกรรมร่วมกันหลังจากปฏิบัติกิจกรรมเสร็จเรียบร้อยแล้วทุกครั้ง เพื่อให้บุตรหลานรับรู้และตระหนักถึงการปฏิบัติตนตามแนวทางที่พ่อแม่หรือผู้ปกครองได้อบรมสั่งสอน
2.       การพัฒนาทักษะทางสังคมเพื่อใช้กับเพื่อน ครูและบุคคลอื่น  พ่อแม่ ผู้ปกครองสามารถช่วย
พัฒนาทักษะทางสังคมที่ลูกจะต้องใช้กับเพื่อนและครูได้โดยการปฏิบัติกิจกรรมต่าง ๆ ที่ทำร่วมกันที่บ้าน แล้วอธิบายเพื่อเชื่อมโยงให้บุตตรหลานทราบว่าหากอยู่ในชั้นเรียนหรือสถานศึกษา ควรปฏิบัติอย่างไรบ้าง การฝึกทักษะกับบุตรหลานอาจใช้วิธีการเล่นบทบาทสมมติ เช่น เล่นเป็น ครู นักเรียน หรือเล่นเป็นเพื่อนในห้องเรียน หรือการดูจากการ์ตูน โฆษณา ละคร หรือภาพยนตร์ที่เหมาะสม จะทำให้บุตรหลานสามารถจินตนาการเชื่อมโยงกับเรื่องราวหรือสถานการณ์จริงตนเองเคยประสบมาแล้วได้ง่ายยิ่งขึ้น ทักษะที่พ่อแม่ผู้ปกครองควรฝึกให้บุตรหลานได้ปฏิบัติเพื่อให้สามารถอยู่ร่วมกับเพื่อนและครูอาจารย์ได้อย่างมีความสุข ได้แก่
2.1   การแสดงพฤติกรรมที่เหมาะสมในชั้นเรียน  ได้แก่
-การเข้าหาคนอื่นๆ ด้วยท่าทางที่สังคมยอมรับ  เช่น การเข้าพบผู้ใหญ่ ไม่ควรยืนค้ำ
ศีรษะขณะที่ผู้ใหญ่นั่งอยู่  ไม่ยืนหรือเดินประชิดตัวครูหรือผู้ใหญ่ การส่งงานในห้องพักอาจารย์ เป็นต้น
-การขออนุญาตก่อนลงมือกระทำ  เช่น การขอยืมของใช้จากเพื่อน  การขออนุญาต
ไปห้องน้ำ หรือออกไปนอกห้องเรียน เป็นต้น
-การสร้างความเป็นเพื่อนและรักษาความเป็นเพื่อนไว้
-การแบ่งปันของอุปกรณ์การเรียนและของเล่น  
-การขอโทษ และการให้อภัย ควรฝึกให้บุตรหลานรู้จักขอโทษและการให้อภัยเพื่อน
ในชั้นเรียน โดยการพูดคุยเชื่อมโยงจากเรื่องราวที่เกิดขึ้นที่บ้าน ไปสู่การปฏิบัติตนในชั้นเรียนของบุตรหลาน  เช่น เมื่อพ่อแม่ส่งขนมให้ควรฝึกให้ลูกขอบคุณ พร้อมทั้งสอนว่าเมื่อผู้อื่น ไม่ว่าจะเป็นเพื่อน ครูหรือผู้ใหญ่คนอื่นส่งของให้ลูกควรกล่าวขอบคุณทุกครั้ง  เป็นต้น
                    2.2 ลักษณะนิสัยการทำงาน/ ทักษะที่ใช้ในการเรียน ได้แก่
                              -การฟัง  การพูด 
                              -ความมุ่งมั่นเอาใจใส่ ความขยัน อดทนในการทำงาน
                              -การทำตามคำแนะนำ และปฏิบัติตามกฎระเบียบของห้องเรียนและโรงเรียน
                              -การยอมรับผลที่เกิดขึ้นจากการปฏิบัติของตนเอง
2.3   การจัดการกับความคับข้องใจและความโกรธ  ในการเรียนรู้หรือปฏิบัติกิจกรรมร่วมกับ
ผู้อื่น อาจก่อให้เกิดความคับข้องใจขึ้นได้ ดังนั้นสิ่งที่ควรฝึกให้บุตรหลานปฏิบัติคือ การจัดการกับความขับข้องใจหรือความโกรธที่เกิดขึ้น ซึ่งอาจทำได้โดย
                              -การฝึกให้นับถึง 10 ก่อนที่ลูกจะมีปฏิกิริยาตอบโต้
                              -การทำให้ไม่สนใจเรื่องเหล่านั้นโดยหันไปทำสิ่งอื่นที่ชอบ
                             -การใช้การแสดงออกด้วยคำพูดทดแทนการปะทะทางร่างกาย เช่น การขอความช่วยเหลือจากครูหรือเพื่อน เพื่อให้ช่วยจัดการกับปัญหาหรือข้อขัดแย้ง
                              -การฝึกให้ลูกเรียนรู้ที่จะควบคุมตนเองโดยการบอกกับตนเองเพื่อทำให้ตัวเองใจเย็นลงและแสดงปฏิกิริยาตอบกลับที่ดีที่สุด การฝึกแบบนี้พ่อแม่หรือผู้ฝึกจะต้องสอนโดยการบอกให้ลูกคิดตามก่อน  เช่น เมื่อลูกไม่พอใจที่ลูกสุนัขมาคาบรองเท้าของลูกไปไว้ที่อื่น แม่อาจบอกว่า “สงสัยเจ้าหมาน้อยคงเหงาอยากให้ลูกเล่นด้วย เลยคาบรองเท้าไปซ่อน อย่าไปโกรธมันเลยนะคะคนดีของแม่ เราไปช่วยกันหารองเท้าของหนูดีกว่า” เป็นต้น การกล่าววาจาที่เป็นเหตุผลในทางบวกจะช่วยให้ลูกรับรู้และคิดตามจนติดเป็นนิสัยที่ดีต่อไป

ขั้นตอนในการพัฒนาทักษะทางสังคม
         ผู้ปกครองที่ต้องการจะพัฒนาทักษะทางสังคมให้กับบุตรหลาน ควรดำเนินการตามขั้นตอนดังต่อไปนี้
1.       ก่อนการปฏิบัติกิจกรรม ควรปฏิบัติดังนี้
1.1 แยกแยะและกำหนดพฤติกรรมเป้าหมายที่ต้องการจะพัฒนา /แก้ไขว่ามีพฤติกรรมใดบ้าง
1.2   ตัดสินว่าพฤติกรรมใดที่ต้องการพัฒนาหรือแก้ไข
1.3   กำหนดพฤติกรรมอย่างละเอียดว่าต้องการให้เกิดผลอย่างไรโดยกำหนดสิ่งที่บุตรหลานสามารถจะทำได้หรือแสดงออกหลังจาก การได้รับการส่งเสริมทักษะนั้นๆแล้ว
1.4   วางแผนและจัดเตรียมการพัฒนา โดย
1.4.1         การกำหนดกิจกรรมที่จะใช้ในการพัฒนาพฤติกรรมที่กำหนดไว้
1.4.2         กำหนดระยะเวลา อุปกรณ์ สถานการณ์ และบุคคลผู้ร่วมทำกิจกรรม
2.       ระหว่างการปฏิบัติกิจกรรม
ปฏิบัติกิจกรรมตามที่กำหนดไว้พร้อมทั้งสังเกตพฤติกรรมของบุตรหลานในระหว่างการทำ
กิจกรรม จดจำและบันทึกพฤติกรรมที่บุตรหลานแสดงออกในระหว่างการทำกิจกรรม
3.       หลังการปฏิบัติกิจกรรม
ควรสรุปผลการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของบุตรหลานที่ต้องการพัฒนาว่ามีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้าง จากนั้นผู้ปกครองควรถามตนเองว่ารู้สึกพอใจกับการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของบุตรหลานนั้นหรือไม่ หากคิดว่ายังไม่ดีพอควรพิจารณาปรับปรุงการทำกิจกรรม แล้วลองนำไปปฏิบัติตามขั้นตอนที่กำหนดไว้อีกครั้ง
...................................
รายการอ้างอิง
จำนงค์ อดิวัฒนสิทธิ์ (2545) สังคมวิทยาตามแนวพุทธศาสตร์ กทม. มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย สำนักอธิการบดี
ราชบัณฑิตยสถาน (2524) พจนานุกรมศัพท์สังคมวิทยา อังกฤษ-ไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน กรุงเทพฯ: ราชบัณฑิตยสถาน

สุรางค์ โค้วตระกูล จิตวิทยาการศึกษา(2552) พิมพ์ครั้งที่ 8 กทม. สำนักพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

วันศุกร์ที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2557

วิธีสอนเด็ก LD

   
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.จรีลักษณ์ รัตนาพันธ์
                           สาขาวิชาศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช
           
            วิธีจัดการเรียนการสอนที่ใช้กับผู้เรียนที่มีความบกพร่องทางการเรียนรู้มีหลายวิธี ในที่นี้จะกล่าวถึงวีธีจัดการเรียนการสอนที่ใช้บ่อย ได้แก่ การสอนตรง การสอนกลยุทธศาสตร์การเรียน  การสอนโดยวิธีโฟนิกส์  การสอนคณิตศาสตร์ด้วยวิธีสอนแบบซีอาร์เอ วิธีสอนโดยการนำเสนอด้วยกราฟิก เป็นต้น
1. การสอนตรง (Direct Instruction)  
            เป็นการจัดการเรียนรู้ที่เน้นให้ครูเป็นผู้สอนให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ฝึกทักษะหรือปฏิบัติ ส่วนใหญ่ใช้กับการสอนกับผู้เรียนกลุ่มเล็กหรือสอนแบบตัวต่อตัว  เพื่อให้ผู้เรียนสามารถเรียนรู้ข้อมูลความรู้ ข้อเท็จจริง หรือกระบวนการต่าง ๆ อย่างรวดเร็วโดยการถ่ายทอดข้อมูลความรู้อย่างตรงไปตรงมา เนื้อหาที่ใช้เรียนจะเป็นหน่วยย่อย ๆกรณีที่เนื้อหาที่เรียนมีมากเกินไปหรือยากเกินไปสำหรับผู้เรียน  ครูสามารถใช้การสอนตรงบรรยาย อธิบายเนื้อหาสาระเหล่านั้นอย่างกระชับ  ด้วยภาษาที่เข้าใจง่าย ในการสอนอาจใช้การบรรยายเพื่อนำเสนอเนื้อหาสาระอาจใช้สื่อเพื่อกระตุ้นให้เกิดแรงจูงใจให้ผู้เรียนสนใจมากขึ้น กระบวนการสอนตรง มีขั้นตอน ดังนี้  (Borich, 2004)
1)      การกระตุ้นความสนใจของผู้เรียน
2)      การแจ้งวัตถุประสงค์ของการเรียน ในขั้นนี้ครูจะแจ้งวัตถุประสงค์ของบทเรียน และพฤติกรรมการเรียนรู้ที่คาดหวังแก่ผู้เรียน ชี้แจงสาระของบทเรียน และความสัมพันธ์กับความรู้และประสบการณ์เดิมของผู้เรียนอย่างคร่าวๆ และชี้แจงกระบวนการเรียนรู้และหน้าที่รับผิดชอบของผู้เรียน
3)      การทบทวนความรู้เดิมที่เป็นพื้นฐานของความรู้ใหม่
4)      การนำเสนอความรู้ใหม่หรือเนื้อหาสาระที่ต้องการถ่ายทอดให้ผู้เรียน เป็นขั้นที่ครูสอนความรู้ใหม่โดยใช้วิธีการที่พิจารณาเห็นว่าเหมาะสมกับผู้เรียน  ซึ่งอาจเป็นการสอนโดยการบรรยาย  การสอนโดยการสาธิต หรืออื่น ๆ เพื่อให้ผู้เรียนทราบขั้นตอนและวิธีการในการปฏิบัติอย่างถูกต้อง 
5)      การให้ผู้เรียนฝึกทักษะ เป็นขั้นนำความรู้ไปใช้  โดยให้ผู้เรียนปฏิบัติตามลำดับขั้นตอนที่ได้เรียนรู้มาแล้วภายใต้การแนะนำของครู
6)      การให้ข้อมูลย้อนกลับ  ขั้นนี้ครูจะให้ข้อมูลย้อนกลับเกี่ยวกับพฤติกรรมการเรียนรู้ของผู้เรียน หลังจากการฝึกปฏิบัติด้วยตนเอง โดยใช้การชมเชยและบอกให้แก้ไขสิ่งที่ผิด โดยบอกว่าทำผิดหรือถูกและแก้ไขอย่างไรหรืออาจสอนหรืออธิบายใหม่  

2. การสอนกลยุทธ์การเรียน (Strategy Instruction)
            เป็นการสอนเกี่ยวกับกลยุทธ์ในการเรียน เพื่อให้ผู้เรียนทราบว่าจะใช้กลยุทธ์ใดในการเรียนและใช้เมื่อไร เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการเรียนรู้ สิ่งที่ต้องปฏิบัติคือครูจะต้องมีข้อมูลเกี่ยวกับความสามารถในการรับรู้และเรียนรู้ของผู้เรียน  แล้วพิจารณาว่าผู้เรียนมีความต้องการกลยุทธ์ใดเพื่อช่วยให้เรียนรู้ได้ดีขึ้น กลยุทธ์ที่ถูกใช้บ่อยและส่งผลให้ผู้เรียนส่วนใหญ่เกิดการเรียนรู้ดีขึ้น  คือ  (Pat Beckman 2012)
     กลยุทธ์การคิดคำนวนและการแก้ปัญหา ได้แก่ การสอนโดยการอธิบาย  การแสดงตัวอย่าง
ให้ดู  การใช้ตัวชี้นำ  เป็นต้น
     กลยุทธ์เกี่ยวกับการจำ  ได้แก่  การให้นักเรียนได้เห็นบ่อย  การให้ท่องจำ หรือให้เขียนซ้ำๆ
และ การสอนเทคนิคการจำ
     กลยุทธ์การอ่าน  ได้แก่ สอนให้อ่านให้ถูกต้อง โดยการใช้นิ้วชี้ไปยังคำที่อ่าน  อ่านออกเสียง 
การพิจารณาบริบทของคำหรือข้อความที่อ่าน  การสอนอ่านจับใจความ  
     กลยุทธ์การเขียน  ได้แก่ สอนการบันทึกเพื่อสรุปใจความสำคัญ   เป็นต้น 
ขั้นตอนการสอนกลยุทธ์
1)      อธิบายเกี่ยวกับกลยุทธ์  เพื่อให้นักเรียนทราบถึงวัตถุประสงค์ของการใช้  การพิจารณาเลือกใช้  และวิธีการปฏิบัติเมื่อต้องการใช้กลยุทธ์
2)      ให้นักเรียนทดลองปฏิบัติตามกลยุทธ์
3)      ให้นักเรียนได้ตรวจสอบทบทวนด้วยตนเองเกี่ยวกับการใช้กลยุทธ์และประเมินผลการใช้กลยุทธ์
4)      ครูจัดสถานการณ์เพื่อให้นักเรียนฝึกใช้กลยุทธ์ต่างๆอยู่เสมอ
3. การสอนภาษาโดยวิธีโฟนิกส์ (Phonics Method) 
การสอนแบบโฟนิกส์เป็นวิธีการสอนที่กล่าวถึงความสำคัญของหน่วยพื้นฐานของเสียง (Phonemic
awareness) โดยอธิบายว่าภาษาพูดนั้นประกอบด้วยการเรียงลำดับต่อเนื่องของหน่วยพื้นฐานของเสียงต่าง ๆ ซึ่งเชื่อมโยงไปถึงแบบแผนการสะกดคำในภาษาเขียน ซึ่งส่งผลต่อประสิทธิภาพของการเรียนการสอน ก่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจ  อาจกล่าวได้ว่าการเรียนรู้หน่วยพื้นฐานของเสียงเป็นพื้นฐานของความสามารถในการอ่านออกเขียนได้ การสอนภาษาโดยวิธีโฟนิกส์สามารถสอนได้  5 แบบ  ดังนี้
1.       Analogy Phonics เป็นการสอนคำใหม่ โดยการเปรียบเทียบกับคำที่เคยเรียนรู้มาแล้ว  เช่น การ อ่านคำ brick โดยเปรียบเทียบกับเสียงของคำ kick  ซึ่งมี –ick เป็นส่วนที่มีเสียงซ้ำกัน ครูจะสอนให้ผู้เรียนสังเกตและออกเสียง br  แทนที่  เสียง เป็นต้น  ในภาษาไทย ได้แก่ การให้นักเรียนอ่านคำ  “พาน” “นาน” หลังจากเรียนการอ่านคำ “จาน”  แล้ว  เป็นต้น
2.       Analytic phonics เป็นการสอนให้วิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างตัวอักษรกับเสียงในคำ ก่อนการออกเสียงคำ
3. Embedded phonic เป็นการสอนทักษะการออกเสียงคำ
4. Phonics through spelling เป็นการสอนให้อ่านโดยการออกเสียงต่ละหน่วยเสียงที่ประสมอยู่
    เพื่ออ่านเป็นคำ ซึ่งคล้ายกับการสอนให้ผู้เรียนสะกดคำในภาษาไทย
5.    Synthetic phonics เป็นการสอนให้ผู้เรียนแปลงตัวอักษรเป็นเสียงแล้วผสมเสียงนั้น
       ออกมาเป็นคำ 
4. วิธีสอนแบบซีอาร์เอ (Concrete Representational Abstract: CRA)
            เป็นวิธีสอนคณิตศาสตร์แบบหนึ่งที่สอนให้ผู้เรียนเกิดความคิดรวบยอดจากการสอนจากสิ่งที่เป็นรูปธรรมสู่นามธรรมซึ่งหมายถึงการใช้สัญลักษณ์ต่าง ๆ ทางคณิตศาสตร์  ประกอบด้วยขั้นตอนการสอน 3 ขั้นตอน (The Access Center, 2555) คือ
                    1. Concrete
เป็นขั้นตอนการสอนความคิดรวบยอดโดยใช้ตัวแบบที่เป็นวัสดุ ที่เป็นรูปธรรม เช่น แท่งไม้ ก้อนหินสีต่าง ๆ บล็อก ลูกบาศก์
                    2. Representational
เป็นขั้นตอนการสอนให้เปลี่ยนจากรูปธรรมมาเป็นกึ่งรูปธรรม โดยการวาดภาพ วาดรูปวงกลม หรือจุดเพื่อใช้สำหรับการนับ
                    3.  Abstract
เป็นขั้นตอนการสอนโดยใช้สัญลักษณ์ทางคณิตศาสตร์เพื่อแสดงจำนวนของรูปภาพ จุดหรือวงกลมและมีการใช้เครื่องหมายทางคณิตศาสตร์ + - ´ ¸ เพื่อแสดงการบวก การลบ การคูณและการหาร
5. วิธีสอนด้วยการนำเสนอด้วยกราฟิก(Graphic Representations)
            วิธีสอนแบบนี้เน้นให้ผู้เรียนใช้แผนภาพในการรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับปัญหาซึ่งมี 2 ขั้นตอน ดังนี้
            1. ขั้น Problem Schemata Identification and Representation 
1.1 โดยเริ่มที่การให้ผู้เรียน  อ่านปัญหาอย่างตั้งใจ แล้วหาสิ่งที่โจทย์กำหนด ขั้นนี้ครูใช้การ
     ยกตัวอย่างเพื่อให้ผู้เรียนวิเคราะห์โจทย์หรือสถานการณ์ที่ต้องแก้ปัญหา
1.2 จัดการข้อมูลที่มีอยู่  ดังนี้
          1) เขียนเป็นแผนภาพให้เห็นความสัมพันธ์หรือความเชื่อมโยงของข้อมูลที่มี
               ความสัมพันธ์กัน จากนั้นจัดกลุ่มความสัมพันธ์ของข้อมูลหรือเรื่องราวแล้ว
               เปรียบเทียบข้อมูลที่มีเพื่อหาทางแก้ปัญหา
2) ทำเครื่องหมายไว้ในส่วนที่ไม่ทราบข้อมูล
2 ขั้น Problem Solution เป็นขั้นที่ผู้เรียนจะต้องแก้ปัญหา โดยมีขั้นตอนการปฏิบัติดังนี้
2.1   วางแผนการแก้ปัญหา  โดยการพิจารณว่าสิ่งใดที่กำหนดให้แล้วเขียนเครื่องหมายไว้ที่ข้อมูลเหล่านั้น และกำหนดสิ่งที่ต้องการหาคำตอบ
2.2   ลงมือแก้ปัญหา  โดยการทำตามวิธีการที่กำหนดไว้ ตรวจคำตอบ แล้วเขียนคำตอบ
ทั้งหมดลงในส่วนที่เตรียมไว้เพื่อบันทึกคำตอบ
 4. ข้อควรคำนึงเกี่ยวกับการจัดการเรียนรู้สำหรับผู้เรียนที่มีความบกพร่องทางการเรียนรู้
การจัดการเรียนรู้สำหรับผู้เรียนที่มีความบกพร่องทางการเรียนรู้ให้เป็นไปตามจุดมุ่งหมายที่กำหนดไว้ มีสิ่งที่ควรคำนึงถึงดังนี้   (สาขาวิชาจิตเวชเด็กและวัยรุ่น ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทย์ศิริราชพยาบาล: www.si.mahidol.ac.th)
          1.รู้จักลักษณะปัญหาของผู้เรียน เช่นมีความยากลำบากในการอ่าน การเขียน คำนวณ ความจำ สมาธิ หรือทักษะการจัดการ เป็นต้น
          2.เข้าร่วมในการฝึกอบรมหรือปฏิบัติการเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้
          3.วางแผนทำแฟ้มข้อมูลการเรียนรู้ สังเกตติดตามความสามารถและการมีส่วนร่วมในชั้นเรียนของผู้เรียนแต่ละคน
          4.พัฒนาเทคนิคการจัดการเรียนรู้อย่างมีประสิทธิภาพ ควรใช้เทคนิคหรือนวัตกรรมที่ดึงความสนใจของผู้เรียน
          5.ครูควรปรับวิธีการจัดการเรียนรู้ให้สอดคล้องกับการเรียนรู้ของผู้เรียน โดยใช้วิธีการที่หลากหลาย
          6.เน้นการจัดการเรียนรู้เพื่อพัฒนานิสัยการทำงาน และการเผชิญกับการเปลี่ยนแปลง สอนให้ผู้เรียนสังเกตความก้าวหน้าและจัดระเบียบเวลาในการทำงาน
          7.ค้นหาจุดเด่นของผู้เรียน สร้างความมั่นใจและภาคภูมิใจในตนเองให้กับผู้เรียน ให้การเสริมแรงบวก
          8.ร่วมกันทำงานกับเข้าหน้าที่ ผู้เกี่ยวข้อง ผู้ปกครองเพื่อส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาศักยภาพของผู้เรียนอย่างเต็มที่

            ผู้เรียนที่มีความบกพร่องทางการเรียนรู้จะสามารถเรียนรู้ได้ดีหากครูจัดการกิจกรรมการเรียนรู้ผ่านช่องทางการรับรู้ที่ผู้เรียนถนัด  ควรปรับสาระของหลักสูตรให้มีเนื้อหาน้อยลงหรือเพิ่มเวลาในการทำกิจกรรมการเรียนรู้ในระดับที่ผู้เรียนสามารถเรียนรู้ได้  โดยคำนึงถึงสอดคล้องกับความสนใจและความต้องการพิเศษของผู้เรียนเป็นหลัก การวัดผลการเรียนรู้ควรทำซ้ำหลาย ๆ ครั้งในหลายสถานการณ์เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ใกล้เคียงความจริงมากที่สุด

 

รายการอ้างอิง
จรีลักษณ์ รัตนาพันธ์  (2555) หลักการและแนวคิดการจัดการศึกษาสำหรับผู้เรียนลักษณะพิเศษ” ใน ประมวลสาระชุดวิชา
22769 การจัดการศึกษาสำหรับผู้เรียนลักษณะพิเศษ หน่วยที่ 1 มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช  นนทบุรี
ผดุง อารยวิญญู (2542) การเรียนร่วมระหว่างเด็กปกติกับเด็กที่มีความต้องการพิเศษ สำนักพิมพ์แว่นแก้ว  กรุงเทพฯ
สาขาวิชาจิตเวชเด็กและวัยรุ่น ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทย์ศิริราชพยาบาล: www.si.mahidol.ac.th