วันศุกร์ที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

บทความวิจัย

การเขียนบทความวิจัย
Research Article
ผู้ช่วยศาสตราจารย์  ดร.จรีลักษณ์ รัตนาพันธ์
31กรกฎาคม 2558

บทความวิจัย เป็นการนำเสนอข้อมูลการวิจัยเป็นลายลักษณ์อักษร โดยนำข้อมูลที่ปรากฎ
ในรายงานการวิจัยมาประมวลและสรุปย่อเรียบเรียงเป็นบทความเพื่อให้ผู้อ่านทราบเกี่ยวกับความสำคัญและความเป็นมา วัตถุประสงค์ของการวิจัย วิธีการดำเนินการวิจัย สรุปผลการวิจัย และข้อเสนอแนะ ของงานวิจัยที่ผู้เขียนต้องการนำเสนอ
          การเขียนบทความวิจัย ควรมีองค์ประกอบดังนี้
1 ชื่อเรื่อง (Title) เป็นชื่อที่มาจากชื่องานวิจัย ควรเขียนให้กระชับ การเขียนชื่อบทความวิจัยเป็นการเขียนข้อค้นพบโดยใช้งานวิจัย/วิทยานิพนธ์เป็นฐาน การเขียนชื่อบทความจึงไม่จำเป็นต้องชื่อเหมือนงานวิจัย แต่ต้องแสดงสิ่งสำคัญที่ต้องการศึกษาโดยย่อ การเขียนชื่อบทความจึงควรคำนึงถึงหลักในการเขียน ดังนี้
1.1  ชื่อเรื่องควรเป็นนามวลี ที่บอกให้ทราบตัวแปรหลักที่ศึกษา 
1.2  ชื่อเรื่องไม่ควรยาวเกินไป ควรมุ่งอธิบายให้ผู้อ่านทราบประเด็นของงานวิจัย
อย่างย่อที่สุด
1.3 ควรแสดงคำสำคัญของงานวิจัยที่ทำไว้ในชื่อเรื่อง
2 บทคัดย่อ (Abstract) เป็นการเขียนสรุปการทำวิจัยทั้งหมด โดยจะต้องเขียนสรุปและได้ใจความ ประกอบด้วย ที่มาของงานวิจัย วัตถุประสงค์ของการวิจัย รูปแบบการวิจัย ตัวแปร วิธีดำเนินการวิจัยอย่างย่อ ผลการวิจัย บทคัดย่อควรเป็นส่วนที่เขียนขึ้นหลังจากเขียนบทความเสร็จเรียบร้อย การเขียนบทคัดย่อ จึงควรคำนึงถึงสิ่งต่อไปนี้
2.1 องค์ประกอบในบทคัดย่อ ควรประกอบด้วยส่วนนำ จุดประสงค์ วัสดุอุปกรณ์
และวิธีการ ผลการศึกษา และสรุป โดยเรียบเรียงการเขียนแบบร้อยแก้ว ติดต่อกันไป อย่างย่อ กะทัดรัดชัดเจน เข้าใจง่าย ได้ใช้ความ
2.2 เขียนบอกเฉพาะ แรงจูงใจ ปัญหาหลัก วัตถุประสงค์ ระเบียบวิธีวิจัย
วิธีดำเนินการ ข้อค้นพบ ปัญหาวิจัย วัตถุประสงค์และ/หรือสมมุติฐาน โดยไม่ต้องบอกค่าสถิติที่ได้
2.3 ไม่ควรเขียนรายละเอียดข้อมูลทั่วไป/กลุ่มตัวอย่าง และไม่ต้องอภิปรายผลและ
ข้อเสนอแนะ และไม่ควรเขียนผลการวิจัยเป็นข้อ ๆ
2.4 ควรมีความยาวพอประมาณ ส่วนใหญ่วารสารทางวิชาการจะมีการกำหนด
จำนวนคำในบทคัดย่อไว้ ซึ่งจะแตกต่างกันไปโดยทั่วไปจะกำหนดไว้ประมาณ 250 คำ  และระบุคำสำคัญ 1-4 คำ หรือตามแต่วารสารนั้น ๆ จะกำหนด
2.5 อาจเขียนเป็น 1 ย่อหน้า หรือ 2 ย่อหน้า โดยอาจแสดงออกเป็น ส่วนที่ 1
ประกอบด้วยแรงจูงใจ ปัญหา วัตถุประสงค์ วิธีวิจัย และส่วนที่ 2 ประกอบด้วย ข้อค้นพบเพื่อตอบวัตถุประสงค์หรือสมมุติฐาน (ถ้ามี)
3 บทนำ (Introduction) เป็นการเสนอ ที่มาของการวิจัย ได้แก่ ความสำคัญของปัญหา เพื่อให้ผู้อ่านเข้าใจปัญหาการวิจัย โดยอาจยกสถานการณ์หรือข้อมูลประกอบพร้อมระบุเหตุผลของความจำเป็นที่ต้องแก้ไขปัญหาซึ่งเป็นที่มาของการวิจัย ความเกี่ยวข้องกันระหว่างตัวแปรที่ศึกษากับแนวคิดทฤษฎี วัตถุประสงค์การวิจัย การกำหนดขอบเขตของการวิจัย และประโยชน์ที่ได้รับจากการวิจัย ผู้เขียนอาจรวมวัตถุประสงค์ หรือแยกการเขียนวัตถุประสงค์การวิจัยไว้เป็นอีกส่วน ทั้งนี้ขึ้นกับรูปแบบที่แต่ละสถาบันจะกำหนด การเขียนบทนำที่ดี ดังนี้ (สุนันทา จริยาเลิศศักดิ์. [ออนไลน์] : 2555)
3.1 ควรเสนอลักษณะและความเป็นมารวมทั้งขอบเขตของปัญหาที่นำมาศึกษาให้
ชัดเจน
3.2 มีการทบทวนเอกสารเรื่องที่เกี่ยวข้องกับงานวิจัย ความก้าวหน้า และ
ข้อคำถามหรือปัญหาใดที่ยังไม่มีการศึกษาหาคำตอบ ซึ่งจะสัมพันธ์กับวัตถุประสงค์ของงานวิจัยในบทความที่นำเสนอ
3.3 ระบุวิธีการที่จะศึกษาวิจัย
3.4 มีความยาวประมาณ 2-3 ย่อหน้า ข้อความควรมีความกระชับ ชัดเจน
3.5 การเขียนต้องมีการแสดงหลักฐานอ้างอิงแทรกไว้ในเนื้อหา โดยอาจเป็น
แนวคิดจากนักวิชาการ และผลงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง
4 วิธีดำเนินการ (Methodology) เป็นการเขียนเพื่อให้ทราบว่าข้อมูลที่นำเสนอในงานวิจัยเรื่องนั้นๆ ถูกรวบรวมหรือสร้างขึ้นอย่างไร โดยนำเสนอข้อมูลที่เกี่ยวกับ ประชากรกลุ่มตัวอย่าง
ตัวแปรที่ศึกษา ระยะเวลา กรอบแนวคิด เครื่องมือ รวมทั้งกระบวนการวิเคราะห์ข้อมูล เพื่อให้ผู้อ่านทราบและมั่นใจว่าเป็นวิธีการที่ทำได้ถูกต้อง และเหมาะสมกับบัญหาวิจัยนั้น ๆ
5 สรุปผลการวิจัย (Results and Conclusion) เป็นการเขียนเพื่อแสดงผลที่ได้จาก
การทำวิจัย และแปลความหมายจากผลการทดลองหรือข้อมูลที่ได้มาจากการวิเคราะห์ข้อมูล การนำเสนอผลการวิจัยอาจนำเสนอในรูปตาราง แผนสถิติ แผนภาพ หรือคำบรรยายที่ชัดเจน ควรเสนอตามลำดับวัตถุประสงค์การวิจัย
6 การอภิปรายผล (Discussion) เป็นการให้คำวิจารณ์ แนะนำ และอภิปรายผลของ
การวิจัยที่เกิดขึ้นว่าเป็นเพราะเหตุใด เป็นการอธิบายสาเหตุการเกิดผล การเปรียบเทียบผลกับข้อมูลหรือข้อสรุปที่ได้มาจากการทบทวนวรรณกรรม หรือข้อมูลของงานวิจัยของผู้อื่นที่มีการรายงานไว้แล้วมาสนับสนุน รวมทั้งตอบสมมุติฐานในกรณีที่กำหนดไว้ว่าเป็นไปหรือไม่เป็นไปเพราะเหตุผลใด ผู้เขียนสามารถนำข้อสังเกตหรือข้อค้นพบที่เกิดขึ้นในระหว่างการดำเนินงานวิจัยมาใช้เป็นเหตุผลประกอบการอภิปรายผลได้
7 ข้อเสนอแนะ (Recommendation) เป็นการนำเสนอเพื่อให้ผู้อ่านทราบว่าผลจากการวิจัยนั้นสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับเหตุการณ์จริงได้อย่างสมเหตุสมผล และมีแนวโน้มว่าจะเป็นไปได้ การเขียนข้อเสนอแนะ จะเขียนเป็น 2 แนวทาง คือ
7.1 ข้อเสนอแนะการนำผลการวิจัยไปใช้ เป็นการนำไปปรับปรุงกระบวนการ
ทำซ้ำ โดยขจัดปัญหาและอุปสรรคและเพิ่มแนวทางเพื่อความสมบูรณ์
7.2 ข้อเสนอแนะที่สืบเนื่องจากผลวิจัย เพื่อเป็นการพัฒนาต่อเนื่องให้ได้องค์
ความรู้เพิ่มเติมจากการพิสูจน์ตามข้อเสนอที่มีผลกระทบต่องานวิจัย
8. เอกสารอ้างอิง (References) ในการเขียนบทความวิจัยซึ่งเป็นเอกสารทางวิชาการ จำเป็นต้องแสดงแหล่งที่มาของข้อมูลที่นำเสนอด้วยการอ้างอิงทุกแห่งที่ปรากฏในบทความ ผู้เขียนต้องแสดงในรายการเอกสารอ้างอิงท้ายบทความ ควรตรวจสอบรูปแบบการเขียนรายการอ้างอิงให้ถูกต้อง ตามประเภทการอ้างอิง รูปแบบการอ้างอิง ตามที่วารสารนั้นกำหนดรูปแบบไว้ และถูกต้องตามระบบการอ้างอิงของวารสารนั้น ๆ โดยทั่วไปวารสารแต่ละชื่อเรื่องจะระบุรูปแบบและระบบการอ้างอิง การเขียนอ้างอิงเพื่อการแสดงรายการหลักฐานต่าง ๆ ที่นำมาใช้ประกอบการเขียนบทความ ส่วนใหญ่ที่ใช้มี 2 ระบบ ได้แก่ ระบบนาม-ปี ซึ่งนิยมใช้ทางสังคมศาสตร์ และระบบตัวเลขลำดับ นิยมใช้ทางวิทยาศาสตร์ การใช้รูปแบบการอ้างอิงแบบใด ให้ยึดถือตามเกณฑ์ที่แต่ละชื่อวารสารกำหนด


………………………………………………………………

1 ความคิดเห็น:

  1. Do this hack to drop 2lb of fat in 8 hours

    More than 160000 women and men are trying a easy and SECRET "liquids hack" to burn 2lbs each night as they sleep.

    It's scientific and works with anybody.

    This is how to do it yourself:

    1) Grab a drinking glass and fill it up half the way

    2) Now follow this strange hack

    and become 2lbs thinner the next day!

    ตอบลบ