วันศุกร์ที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2557

วิธีสอนเด็ก LD

   
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.จรีลักษณ์ รัตนาพันธ์
                           สาขาวิชาศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช
           
            วิธีจัดการเรียนการสอนที่ใช้กับผู้เรียนที่มีความบกพร่องทางการเรียนรู้มีหลายวิธี ในที่นี้จะกล่าวถึงวีธีจัดการเรียนการสอนที่ใช้บ่อย ได้แก่ การสอนตรง การสอนกลยุทธศาสตร์การเรียน  การสอนโดยวิธีโฟนิกส์  การสอนคณิตศาสตร์ด้วยวิธีสอนแบบซีอาร์เอ วิธีสอนโดยการนำเสนอด้วยกราฟิก เป็นต้น
1. การสอนตรง (Direct Instruction)  
            เป็นการจัดการเรียนรู้ที่เน้นให้ครูเป็นผู้สอนให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ฝึกทักษะหรือปฏิบัติ ส่วนใหญ่ใช้กับการสอนกับผู้เรียนกลุ่มเล็กหรือสอนแบบตัวต่อตัว  เพื่อให้ผู้เรียนสามารถเรียนรู้ข้อมูลความรู้ ข้อเท็จจริง หรือกระบวนการต่าง ๆ อย่างรวดเร็วโดยการถ่ายทอดข้อมูลความรู้อย่างตรงไปตรงมา เนื้อหาที่ใช้เรียนจะเป็นหน่วยย่อย ๆกรณีที่เนื้อหาที่เรียนมีมากเกินไปหรือยากเกินไปสำหรับผู้เรียน  ครูสามารถใช้การสอนตรงบรรยาย อธิบายเนื้อหาสาระเหล่านั้นอย่างกระชับ  ด้วยภาษาที่เข้าใจง่าย ในการสอนอาจใช้การบรรยายเพื่อนำเสนอเนื้อหาสาระอาจใช้สื่อเพื่อกระตุ้นให้เกิดแรงจูงใจให้ผู้เรียนสนใจมากขึ้น กระบวนการสอนตรง มีขั้นตอน ดังนี้  (Borich, 2004)
1)      การกระตุ้นความสนใจของผู้เรียน
2)      การแจ้งวัตถุประสงค์ของการเรียน ในขั้นนี้ครูจะแจ้งวัตถุประสงค์ของบทเรียน และพฤติกรรมการเรียนรู้ที่คาดหวังแก่ผู้เรียน ชี้แจงสาระของบทเรียน และความสัมพันธ์กับความรู้และประสบการณ์เดิมของผู้เรียนอย่างคร่าวๆ และชี้แจงกระบวนการเรียนรู้และหน้าที่รับผิดชอบของผู้เรียน
3)      การทบทวนความรู้เดิมที่เป็นพื้นฐานของความรู้ใหม่
4)      การนำเสนอความรู้ใหม่หรือเนื้อหาสาระที่ต้องการถ่ายทอดให้ผู้เรียน เป็นขั้นที่ครูสอนความรู้ใหม่โดยใช้วิธีการที่พิจารณาเห็นว่าเหมาะสมกับผู้เรียน  ซึ่งอาจเป็นการสอนโดยการบรรยาย  การสอนโดยการสาธิต หรืออื่น ๆ เพื่อให้ผู้เรียนทราบขั้นตอนและวิธีการในการปฏิบัติอย่างถูกต้อง 
5)      การให้ผู้เรียนฝึกทักษะ เป็นขั้นนำความรู้ไปใช้  โดยให้ผู้เรียนปฏิบัติตามลำดับขั้นตอนที่ได้เรียนรู้มาแล้วภายใต้การแนะนำของครู
6)      การให้ข้อมูลย้อนกลับ  ขั้นนี้ครูจะให้ข้อมูลย้อนกลับเกี่ยวกับพฤติกรรมการเรียนรู้ของผู้เรียน หลังจากการฝึกปฏิบัติด้วยตนเอง โดยใช้การชมเชยและบอกให้แก้ไขสิ่งที่ผิด โดยบอกว่าทำผิดหรือถูกและแก้ไขอย่างไรหรืออาจสอนหรืออธิบายใหม่  

2. การสอนกลยุทธ์การเรียน (Strategy Instruction)
            เป็นการสอนเกี่ยวกับกลยุทธ์ในการเรียน เพื่อให้ผู้เรียนทราบว่าจะใช้กลยุทธ์ใดในการเรียนและใช้เมื่อไร เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการเรียนรู้ สิ่งที่ต้องปฏิบัติคือครูจะต้องมีข้อมูลเกี่ยวกับความสามารถในการรับรู้และเรียนรู้ของผู้เรียน  แล้วพิจารณาว่าผู้เรียนมีความต้องการกลยุทธ์ใดเพื่อช่วยให้เรียนรู้ได้ดีขึ้น กลยุทธ์ที่ถูกใช้บ่อยและส่งผลให้ผู้เรียนส่วนใหญ่เกิดการเรียนรู้ดีขึ้น  คือ  (Pat Beckman 2012)
     กลยุทธ์การคิดคำนวนและการแก้ปัญหา ได้แก่ การสอนโดยการอธิบาย  การแสดงตัวอย่าง
ให้ดู  การใช้ตัวชี้นำ  เป็นต้น
     กลยุทธ์เกี่ยวกับการจำ  ได้แก่  การให้นักเรียนได้เห็นบ่อย  การให้ท่องจำ หรือให้เขียนซ้ำๆ
และ การสอนเทคนิคการจำ
     กลยุทธ์การอ่าน  ได้แก่ สอนให้อ่านให้ถูกต้อง โดยการใช้นิ้วชี้ไปยังคำที่อ่าน  อ่านออกเสียง 
การพิจารณาบริบทของคำหรือข้อความที่อ่าน  การสอนอ่านจับใจความ  
     กลยุทธ์การเขียน  ได้แก่ สอนการบันทึกเพื่อสรุปใจความสำคัญ   เป็นต้น 
ขั้นตอนการสอนกลยุทธ์
1)      อธิบายเกี่ยวกับกลยุทธ์  เพื่อให้นักเรียนทราบถึงวัตถุประสงค์ของการใช้  การพิจารณาเลือกใช้  และวิธีการปฏิบัติเมื่อต้องการใช้กลยุทธ์
2)      ให้นักเรียนทดลองปฏิบัติตามกลยุทธ์
3)      ให้นักเรียนได้ตรวจสอบทบทวนด้วยตนเองเกี่ยวกับการใช้กลยุทธ์และประเมินผลการใช้กลยุทธ์
4)      ครูจัดสถานการณ์เพื่อให้นักเรียนฝึกใช้กลยุทธ์ต่างๆอยู่เสมอ
3. การสอนภาษาโดยวิธีโฟนิกส์ (Phonics Method) 
การสอนแบบโฟนิกส์เป็นวิธีการสอนที่กล่าวถึงความสำคัญของหน่วยพื้นฐานของเสียง (Phonemic
awareness) โดยอธิบายว่าภาษาพูดนั้นประกอบด้วยการเรียงลำดับต่อเนื่องของหน่วยพื้นฐานของเสียงต่าง ๆ ซึ่งเชื่อมโยงไปถึงแบบแผนการสะกดคำในภาษาเขียน ซึ่งส่งผลต่อประสิทธิภาพของการเรียนการสอน ก่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจ  อาจกล่าวได้ว่าการเรียนรู้หน่วยพื้นฐานของเสียงเป็นพื้นฐานของความสามารถในการอ่านออกเขียนได้ การสอนภาษาโดยวิธีโฟนิกส์สามารถสอนได้  5 แบบ  ดังนี้
1.       Analogy Phonics เป็นการสอนคำใหม่ โดยการเปรียบเทียบกับคำที่เคยเรียนรู้มาแล้ว  เช่น การ อ่านคำ brick โดยเปรียบเทียบกับเสียงของคำ kick  ซึ่งมี –ick เป็นส่วนที่มีเสียงซ้ำกัน ครูจะสอนให้ผู้เรียนสังเกตและออกเสียง br  แทนที่  เสียง เป็นต้น  ในภาษาไทย ได้แก่ การให้นักเรียนอ่านคำ  “พาน” “นาน” หลังจากเรียนการอ่านคำ “จาน”  แล้ว  เป็นต้น
2.       Analytic phonics เป็นการสอนให้วิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างตัวอักษรกับเสียงในคำ ก่อนการออกเสียงคำ
3. Embedded phonic เป็นการสอนทักษะการออกเสียงคำ
4. Phonics through spelling เป็นการสอนให้อ่านโดยการออกเสียงต่ละหน่วยเสียงที่ประสมอยู่
    เพื่ออ่านเป็นคำ ซึ่งคล้ายกับการสอนให้ผู้เรียนสะกดคำในภาษาไทย
5.    Synthetic phonics เป็นการสอนให้ผู้เรียนแปลงตัวอักษรเป็นเสียงแล้วผสมเสียงนั้น
       ออกมาเป็นคำ 
4. วิธีสอนแบบซีอาร์เอ (Concrete Representational Abstract: CRA)
            เป็นวิธีสอนคณิตศาสตร์แบบหนึ่งที่สอนให้ผู้เรียนเกิดความคิดรวบยอดจากการสอนจากสิ่งที่เป็นรูปธรรมสู่นามธรรมซึ่งหมายถึงการใช้สัญลักษณ์ต่าง ๆ ทางคณิตศาสตร์  ประกอบด้วยขั้นตอนการสอน 3 ขั้นตอน (The Access Center, 2555) คือ
                    1. Concrete
เป็นขั้นตอนการสอนความคิดรวบยอดโดยใช้ตัวแบบที่เป็นวัสดุ ที่เป็นรูปธรรม เช่น แท่งไม้ ก้อนหินสีต่าง ๆ บล็อก ลูกบาศก์
                    2. Representational
เป็นขั้นตอนการสอนให้เปลี่ยนจากรูปธรรมมาเป็นกึ่งรูปธรรม โดยการวาดภาพ วาดรูปวงกลม หรือจุดเพื่อใช้สำหรับการนับ
                    3.  Abstract
เป็นขั้นตอนการสอนโดยใช้สัญลักษณ์ทางคณิตศาสตร์เพื่อแสดงจำนวนของรูปภาพ จุดหรือวงกลมและมีการใช้เครื่องหมายทางคณิตศาสตร์ + - ´ ¸ เพื่อแสดงการบวก การลบ การคูณและการหาร
5. วิธีสอนด้วยการนำเสนอด้วยกราฟิก(Graphic Representations)
            วิธีสอนแบบนี้เน้นให้ผู้เรียนใช้แผนภาพในการรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับปัญหาซึ่งมี 2 ขั้นตอน ดังนี้
            1. ขั้น Problem Schemata Identification and Representation 
1.1 โดยเริ่มที่การให้ผู้เรียน  อ่านปัญหาอย่างตั้งใจ แล้วหาสิ่งที่โจทย์กำหนด ขั้นนี้ครูใช้การ
     ยกตัวอย่างเพื่อให้ผู้เรียนวิเคราะห์โจทย์หรือสถานการณ์ที่ต้องแก้ปัญหา
1.2 จัดการข้อมูลที่มีอยู่  ดังนี้
          1) เขียนเป็นแผนภาพให้เห็นความสัมพันธ์หรือความเชื่อมโยงของข้อมูลที่มี
               ความสัมพันธ์กัน จากนั้นจัดกลุ่มความสัมพันธ์ของข้อมูลหรือเรื่องราวแล้ว
               เปรียบเทียบข้อมูลที่มีเพื่อหาทางแก้ปัญหา
2) ทำเครื่องหมายไว้ในส่วนที่ไม่ทราบข้อมูล
2 ขั้น Problem Solution เป็นขั้นที่ผู้เรียนจะต้องแก้ปัญหา โดยมีขั้นตอนการปฏิบัติดังนี้
2.1   วางแผนการแก้ปัญหา  โดยการพิจารณว่าสิ่งใดที่กำหนดให้แล้วเขียนเครื่องหมายไว้ที่ข้อมูลเหล่านั้น และกำหนดสิ่งที่ต้องการหาคำตอบ
2.2   ลงมือแก้ปัญหา  โดยการทำตามวิธีการที่กำหนดไว้ ตรวจคำตอบ แล้วเขียนคำตอบ
ทั้งหมดลงในส่วนที่เตรียมไว้เพื่อบันทึกคำตอบ
 4. ข้อควรคำนึงเกี่ยวกับการจัดการเรียนรู้สำหรับผู้เรียนที่มีความบกพร่องทางการเรียนรู้
การจัดการเรียนรู้สำหรับผู้เรียนที่มีความบกพร่องทางการเรียนรู้ให้เป็นไปตามจุดมุ่งหมายที่กำหนดไว้ มีสิ่งที่ควรคำนึงถึงดังนี้   (สาขาวิชาจิตเวชเด็กและวัยรุ่น ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทย์ศิริราชพยาบาล: www.si.mahidol.ac.th)
          1.รู้จักลักษณะปัญหาของผู้เรียน เช่นมีความยากลำบากในการอ่าน การเขียน คำนวณ ความจำ สมาธิ หรือทักษะการจัดการ เป็นต้น
          2.เข้าร่วมในการฝึกอบรมหรือปฏิบัติการเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้
          3.วางแผนทำแฟ้มข้อมูลการเรียนรู้ สังเกตติดตามความสามารถและการมีส่วนร่วมในชั้นเรียนของผู้เรียนแต่ละคน
          4.พัฒนาเทคนิคการจัดการเรียนรู้อย่างมีประสิทธิภาพ ควรใช้เทคนิคหรือนวัตกรรมที่ดึงความสนใจของผู้เรียน
          5.ครูควรปรับวิธีการจัดการเรียนรู้ให้สอดคล้องกับการเรียนรู้ของผู้เรียน โดยใช้วิธีการที่หลากหลาย
          6.เน้นการจัดการเรียนรู้เพื่อพัฒนานิสัยการทำงาน และการเผชิญกับการเปลี่ยนแปลง สอนให้ผู้เรียนสังเกตความก้าวหน้าและจัดระเบียบเวลาในการทำงาน
          7.ค้นหาจุดเด่นของผู้เรียน สร้างความมั่นใจและภาคภูมิใจในตนเองให้กับผู้เรียน ให้การเสริมแรงบวก
          8.ร่วมกันทำงานกับเข้าหน้าที่ ผู้เกี่ยวข้อง ผู้ปกครองเพื่อส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาศักยภาพของผู้เรียนอย่างเต็มที่

            ผู้เรียนที่มีความบกพร่องทางการเรียนรู้จะสามารถเรียนรู้ได้ดีหากครูจัดการกิจกรรมการเรียนรู้ผ่านช่องทางการรับรู้ที่ผู้เรียนถนัด  ควรปรับสาระของหลักสูตรให้มีเนื้อหาน้อยลงหรือเพิ่มเวลาในการทำกิจกรรมการเรียนรู้ในระดับที่ผู้เรียนสามารถเรียนรู้ได้  โดยคำนึงถึงสอดคล้องกับความสนใจและความต้องการพิเศษของผู้เรียนเป็นหลัก การวัดผลการเรียนรู้ควรทำซ้ำหลาย ๆ ครั้งในหลายสถานการณ์เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ใกล้เคียงความจริงมากที่สุด

 

รายการอ้างอิง
จรีลักษณ์ รัตนาพันธ์  (2555) หลักการและแนวคิดการจัดการศึกษาสำหรับผู้เรียนลักษณะพิเศษ” ใน ประมวลสาระชุดวิชา
22769 การจัดการศึกษาสำหรับผู้เรียนลักษณะพิเศษ หน่วยที่ 1 มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช  นนทบุรี
ผดุง อารยวิญญู (2542) การเรียนร่วมระหว่างเด็กปกติกับเด็กที่มีความต้องการพิเศษ สำนักพิมพ์แว่นแก้ว  กรุงเทพฯ
สาขาวิชาจิตเวชเด็กและวัยรุ่น ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทย์ศิริราชพยาบาล: www.si.mahidol.ac.th

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น