วันอาทิตย์ที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2557

ความสำคัญของการจัดการเรียนรู้ด้านอาชีพ


                   ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.จรีลักษณ์ รัตนาพันธ์

การมีอาชีพ เป็นสิ่งที่สำคัญในวิถีชีวิตและการดำรงชีพในปัจจุบัน เพราะอาชีพเป็นการสร้างรายได้เพื่อเลี้ยงชีพตนเองและครอบครัว อาชีพก่อให้เกิดผลผลิตและการบริการ ซึ่งสนองตอบต่อความต้องการของผู้บริโภคและที่สำคัญคือ อาชีพมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศชาติความสำคัญของอาชีพจึงเป็นฟันเฟืองสำคัญในการพัฒนาคุณภาพชีวิต เศรษฐกิจชุมชนส่งผลถึงความเจริญก้าวหน้าของประเทศชาติ
การจัดการเรียนรู้เกี่ยวกับ “อาชีพ” จึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งโดยเฉพาะในการจัดการเรียนรู้ในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ซึ่งเป็นช่วงเวลาในการเตรียมความพร้อมของผู้เรียนที่จะเลือกการประกอบอาชีพของตนเองต่อไปในอนาคต ในที่นี้จะกล่าวถึงความสำคัญของการจัดการเรียนรู้การอาชีพใน 2 ประเด็น คือ  ความสำคัญของการจัดประสบการณ์การเรียนรู้การอาชีพในระดับบุคคล  และความสำคัญของการจัดประสบการณ์การเรียนรู้การอาชีพในระดับครอบครัวและชุมชน  ซึ่งจะเสนอไว้ตามลำดับดังนี้
           1. ความสำคัญของการจัดประสบการณ์การเรียนรู้สาระการอาชีพในระดับบุคคล  ประกอบด้วย
   1.1   ความสำคัญของการจัดการเรียนรู้การอาชีพที่มีต่อผู้เรียน การจัดการเรียนรู้การ
อาชีพมีความสำคัญต่อผู้เรียน ดังนี้
1)      ทำให้ผู้เรียนมีความรู้เกี่ยวกับความหมายและความสำคัญของอาชีพ  ทำให้
ผู้เรียนรู้จักอาชีพต่าง ๆ ที่มีอยู่โดยเฉพาะอาชีพในชุมชน
2)      ทำให้ผู้เรียนรู้จักตนเองในด้านของความสามารถและความสนใจในการประกอบ
อาชีพในอนาคต
3)      ทำให้ผู้เรียนมีทักษะพื้นฐานในการทำงาน ได้แก่ มีทักษะในการทำงาน มีทักษะ
ในการจัดการ การแก้ปัญหา การทำงานร่วมกับผู้อื่นและมีทักษะในการแสวงหาความรู้ 
4)      ทำให้ผู้เรียนเป็นผู้มีคุณธรรมที่จำเป็นต้องใช้ในการประกอบอาชีพ ได้แก่         
มีความซื่อสัตย์ มีความขยันอดทน มีความยุติธรรม และมีความรับผิดชอบ
                  1.2 ความสำคัญของการจัดการเรียนรู้สาระการอาชีพที่มีต่อผู้ปกครอง  การจัดการเรียนรู้การ
อาชีพมีความสำคัญต่อผู้ปกครองนักเรียน ดังนี้
1)      ทำให้ผู้ปกครองได้ทราบถึงพัฒนาการด้านความสามารถในการทำงาน และความสนใจในการประกอบอาชีพในอนาคตของผู้บุตรหลานที่อยู่ในปกครอง ซึ่งเป็นข้อมูลสำคัญที่จะนำไปใช้ในการตัดสินใจวางแผนอนาคตทางการศึกษาและการประกอบอาชีพของบุตรหลานได้อย่างดี
2)      ผู้ปกครองได้รับความรู้เกี่ยวกับเรื่องงานอาชีพโดยทางอ้อมจากการมีส่วนร่วมในการช่วยเหลือให้เกิดการเรียนรู้ และประเมินผลการเรียนรู้ของบุตรหลานตามที่โรงเรียนกำหนด เช่น การประเมินการปฏิบัติงานและประเมินชิ้นงานของนักเรียน การรายงานพฤติกรรมการปฏิบัติตนในช่วงที่นักเรียนอยู่ที่บ้าน เป็นต้น
3)      การจัดการเรียนรู้การอาชีพของสถานศึกษาส่วนใหญ่จะมีการขยายผลการจัดกิจกรรมสู่ผู้ปกครองและชุมชน ได้แก่ การจัดการฝึกอาชีพในวันหยุดเสาร์อาทิตย์ เป็นการให้บริการแก่ชุมชนที่ทำให้ผู้ปกครองและบุคคลต่างๆที่อยู่ในชุมชนมีความรู้และทักษะในการประกอบอาชีพและยังสามารถนำไปใช้ในการประกอบอาชีพก่อให้เกิดรายได้เสริม ซึ่งจะส่งผลให้สถานภาพทางเศรษฐกิจของคนในชุมชนดีขึ้นได้อีกทางหนึ่ง
4)      การจัดการเรียนรู้การอาชีพที่สถานศึกษาจัดขึ้นนั้น จะมีการให้ผู้เรียนได้เยี่ยมชมหรือสังเกตการปฏิบัติจากผู้รู้ผู้ชำนาญในแต่ละสาขาอาชีพที่กำหนดไว้ในหลักสูตร การจัดประสบการณ์ในลักษณะนี้นิยมเชิญภูมิปัญญาท้องถิ่นที่อยู่ในชุมชนเป็นวิทยากรพิเศษให้ความรู้แก่ผู้เรียนซึ่งอาจเป็นผู้ปกครองนักเรียนหรือบุคคลในชุมชน  การจัดประสบการณ์เรียนรู้ลักษณะนี้จะก่อให้เกิดสัมพันธภาพอันดีระหว่างผู้ปกครองกับครูและผู้บริหารโรงเรียน
2. ความสำคัญของการจัดการเรียนรู้การอาชีพในระดับครอบครัวและชุมชน 
การจัดประสบการณ์การเรียนรู้สาระการอาชีพ ระดับประถมศึกษามีความสำคัญต่อครอบครัวและชุมชน ดังนี้
1)      ช่วยส่งเสริมสัมพันธภาพที่ดีระหว่างสมาชิกในครอบครัว  การที่สถานศึกษาจัดให้ผู้เรียนทำกิจกรรมการเรียนรู้ด้านอาชีพซึ่งจะต้องมีการจัดเตรียมอุปกรณ์และฝึกฝนปฏิบัติกิจกรรม ตลอดจนลงมือปฏิบัติจริงซึ่งต้องใช้ระยะเวลาในการปฏิบัติงานนาน  งานบางอย่างต้องทำที่บ้าน  เช่น อาชีพด้านการถักทอ การทำเครื่องประดับ ผู้ปกครองอาจมีส่วนร่วมในการฝึกหัดให้บุตรหลานของตนที่บ้าน การได้อยู่ใกล้ชิดกันจะทำให้เกิดสัมพันธภาพที่ดีระหว่างพ่อแม่ ผู้ปกครองและนักเรียนให้มีมากยิ่งขึ้นได้
2)      ช่วยให้บุคคลในชุมชนมีความรู้ที่จะนำไปใช้ในการประกอบอาชีพ  ซึ่งก่อเกิดรายได้ที่จะนำไปใช้ในการดำรงชีวิตต่อไป บุคคลในชุมชนสามารถพึ่งพาตนเองได้อันเป็นผลให้เกิดมั่นคงในทางเศรษฐกิจในชุมชน
3) ก่อให้เกิดความเข้มแข็งทางสังคมระหว่างบุคคลที่อาศัยอยู่ในชุมชน การที่บุคคลมา
    ร่วมรับความรู้และฝึกประสบการณ์ด้านอาชีพร่วมกัน  จะก่อให้เกิดความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน                มีความรักความสามัคคีกันระหว่างบุคคลในชุมชน  

3 ความคิดเห็น: